x close

TDRI สำรวจรายได้ตลอดชีวิต ชี้ ข้าราชการดีกว่าลูกจ้างเอกชน

เปิดอัตราเงินเดือนใหม่ข้าราชการ วุฒิ ปวช.-ปริญญาเอก
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           TDRI เผยเงินเดือน 1.5 หมื่น เพิ่มความเหลื่อมล้ำ โดยสำรวจจากเงินเดือนตลอดชีวิต พบข้าราชต่างจังหวัดเงินเดือนดีกว่าลูกจ้างเอกชน แถมมีเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการเพียบ


           วานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ผู้สื่อข่าวระบุถึงผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ที่สำรวจรายได้เฉลี่ยของอาชีพราชการ และลูกจ้างเอกชน ว่า ข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไป ตามที่หลาย ๆ คนเข้าใจ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว อาชีพข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตเฉลี่ยดีกว่าลูกจ้างเอกชนในทุกระดับการศึกษา โดยครึ่งหนึ่งของรายได้คือมูลค่าสวัสดิการที่ได้รับขณะที่ลูกจ้างเอกชนมีความผันผวนในเรื่องของรายได้และสวัสดิการมากกว่า ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลกำหนดนั้น ยิ่งเพิ่มช่องว่างของรายได้ระหว่างลูกจ้างข้าราชการ และลูกจ้างภาคเอกชนเป็นอย่างมาก

           นอกจากนี้ ผลวิจัยยังระบุว่า การปรับฐานเงินเดือน 15,000 ของข้าราชการระดับปริญญาตรีนั้น น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน ภาระเงินงบประมาณของรัฐ และระดับการบริโภคของประชาชน โดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ และนายชยดล ล้อมทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ทำการศึกษาในส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนในภาคราชการ  เน้นพิจารณารายได้ตลอดชีวิตของลูกจ้างราชการเปรียบเทียบลูกจ้างเอกชน และภาระเงินงบประมาณของรัฐในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อฐานะการคลังและความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว ดังนี้...

           การศึกษารายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน คำนวณรายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน

           - ประชากรไตรมาส 3 ทั้งหมด 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2553

           - ติดตามดูรายได้ตลอดชีวิตข้าราชการและลูกจ้างเอกชนที่อายุ 25-34 ปี ใน พ.ศ.2523

           - คำนวณรายได้เฉลี่ย (รวมโบนัส ค่าล่วงเวลา ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และอื่น ๆ) จำแนกตามระดับการศึกษา 3 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี และจำแนกตามการอยู่อาศัยคือ นอกเขตและในเขตกรุงเทพฯ

           - ติดตามลูกจ้างและข้าราชการกลุ่มนี้ทุกปี และคำนวณค่าเฉลี่ยของรายได้ทุกปี จนกระทั่งคนกลุ่มนี้อายุ 55-64 ปี ในปี พ.ศ.2553

           ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ข้าราชการที่อยู่นอกเขตกรุงเพทฯ จะมีรายได้ตลอดชีวิตดีกว่าการเป็นลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งการเป็นลูกจ้างเอกชนนั้น จะมีรายได้ที่ผันผวน ถึงแม้ว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี จะมีรายได้ดีในบางช่วงก็ตาม แต่ในเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ของลูกจ้างเอกชนก็จะตกแรงมาก ในขณะที่รายได้ของข้าราชการไม่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจเลย

           สำหรับข้าราชการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนความผันผวนในรายได้ของข้าราชการก็ต่ำกว่าเอกชนมาก สรุปได้ว่า ข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไป และถึงแม้ใครจะมองว่า ข้าราชการที่มีการศึกษาสูง หากได้มาทำงานในบริษัทเอกชน จะได้เงินเดือนดีกว่านั้น แต่เมื่อเทียบดูแล้ว ข้าราชก็มีสวัสดิการด้านอื่น ๆ ทั้งเบี้ยประชุม, รายได้จากการสอน, รายได้จากการทำวิจัย หรือเบี้ยอื่น ๆ ที่ข้าราชการได้รับ ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจจะมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

           พร้อมกันนี้ ผลการศึกษา ยังระบุว่า ข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตสูงกว่าลูกจ้างเอกชนในทุก ๆ ระดับการศึกษา ทั้งในเขตกรุงเทพฯและนอกกรุงเทพฯ และเมื่อเปรียบเทียบโดยใช้มูลค่า ณ ราคา ปี พ.ศ.2550 จะเห็นว่าข้าราชการที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมักได้รับรายได้ตลอดชีพสูงกว่าลูกจ้างเอกชน

           นอกจากนั้น การเปรียบเทียบโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ สรุปได้ว่า ข้าราชการได้รับรายได้น้อยกว่าเอกชนเฉพาะกลุ่มอาชีพผู้บริหารหรือข้าราชการที่ทำงานในกรุงเทพเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยของข้าราชการทั่วประเทศ  ดังนั้น การขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและต่ำกว่า น่าจะยิ่งทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคต่าง ๆ สูงขึ้นไปอีก
 
           ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การปรับฐานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี จะมีผลทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ตลอดชีพระหว่างข้าราชการและลูกจ้างเอกชนยิ่งสูงมากขึ้น ในขณะที่รายได้ตลอดชีพของข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นยังน้อยกว่าภาคเอกชน นับว่าเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างบุคลากรราชการที่ไม่ถูกจุด

           ส่วนในอนาคตนั้นจำนวนข้าราชการจะลดลง และเน้นให้ข้าราชการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ การปรับฐานเงินเดือนจึงควรมุ่งเน้นไปยังตำแหน่งงานที่มีความรับผิดชอบสูง ส่วนจำนวนข้าราชการระดับใช้ความรู้หรือทักษะน้อยนั้นต้องลดจำนวนลง งานหลายประเภทควรให้ภาคเอกชนรับไปทำ
 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
TDRI สำรวจรายได้ตลอดชีวิต ชี้ ข้าราชการดีกว่าลูกจ้างเอกชน โพสต์เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 13:11:57 5,781 อ่าน
TOP