x close

หลายฝ่ายออกโรงค้านเคอร์ฟิวใต้ ระบุ ข้อดี-ข้อเสีย ไม่ชัดเจน



ข่าวภาคใต้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3 , เฟซบุ๊ก รวมพลคนรัก ทหาร ตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

         หลายฝ่ายกังวลหลังมีข่าวการประกาศเคอร์ฟิวบางพื้นที่ของภาคใต้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทักท้วงว่า รัฐบาลยังไม่ได้ศึกษา ข้อดี-ข้อเสีย อย่างชัดเจน จึงเกรงว่าจะกระทบกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

         หลังจากที่รัฐบาลกำลังเตรียมการประชุมใหญ่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยจะเป็นการนำข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาหารือร่วมกันว่า ควรมีการประกาศเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้งหรือไม่นั้น แต่ล่าสุด เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ได้มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกว่า 50 คน แต่งกายเลียนแบบทหารบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ ปล.ที่ 2 ฉก.นย. 32 ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จนกระทั่งในเวลาต่อมามีข่าวรางานว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว

         ข่าวดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศเคอร์ฟิวเป็นอย่างมาก เนื่องจากในบางพื้นที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงอยู่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ในเวลาต่อมา พันเอกปราโมทย์ พรมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต้องออกมาชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าว ไม่ใช่การประกาศเคอร์ฟิวอย่างที่เข้าใจกัน เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากประชาชนใน 4 ตำบล ของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนครธิวาส และ 6 ตำบล ในอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ไม่ให้ออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้าวันนี้ ถึง 6 โมงเช้าพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์) 

ตีแผ่ชีวิตทหารเหยื่อไฟใต้ ถูกทอดทิ้ง มาเยี่ยมแค่ตอนเจ็บ-ถ่ายรูปแล้วกลับ

         อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีหลายฝ่ายเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ ข้อดี ข้อเสีย ที่อาจเกิดขึ้น หากมีการประกาศเคอร์ฟิว  โดยมุมมองต่าง ๆ เริ่มจากนายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ให้ความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศเคอร์ฟิว เพราะแค่การประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจในการระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ก็เพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ควรเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน โดยบริหารเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่กว่าแสนคนให้ทำงานได้ครอบคลุมมากขึ้น  เช่น เน้นการตรวจตราตามจุดตรวจต่าง ๆ ทั้งถนนหลัก ถนนในชุมชนและหมู่บ้าน เพิ่มการลาดตระเวน จับกุมแกนนำผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง

         ข้อดีของการประกาศเคอร์ฟิว มีเพียงแค่ช่วยเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทันที หรือใช้มาตรการรุนแรงได้โดยไม่จำเป็น และเคอร์ฟิวช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้น แต่จะตรงข้ามกับประชาชน ที่เมื่อประกาศเคอร์ฟิวแล้วต้องมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาห้ามประชาชนออกนอกบ้าน หรือสัญจรตามพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปกติเคอร์ฟิวมักประกาศช่วงหัวค่ำถึงตอนเช้า เช่น 20.00-05.00 น.

         นายศรีสมภพ ยังกล่าวว่า สถิติระบุว่าผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่มักไม่ก่อเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว แต่จะก่อเหตุในช่วงเช้าหรือตอนกลางวัน เพราะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัว ดังนั้นช่วงดังกล่าวจึงเป็นเวลาที่เหมาะกับการก่อเหตุ ทั้งนี้ การประกาศเคอร์ฟิวยังกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนโดยตรง เช่น ชาวบ้านออกไปกรีดยางตอนตี 2 ไม่ได้ เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุม หรือเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไม่ได้ ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมต้องทำละหมาดทั้งตอนย่ำรุ่ง พลบค่ำ และกลางคืน  ประเด็นนี้ยิ่งมีแต่จะส่งผลเสียต่อชาวบ้าน ที่สำคัญ ผู้ก่อการร้ายจะใช้โอกาสนี้โจมตีรัฐบาล โฆษณาว่ารัฐบาลทำให้ประชาชนเดือดร้อน คุกคามสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำคือเน้นไปที่มวลชนสัมพันธ์ พยายามเข้าถึงประชาชน ให้ความรู้กับชาวบ้านว่ารัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างไร และจริงจังมากแค่ไหนกับความปลอดภัยของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม น่าจะได้ผลดีกว่าการประกาศเคอร์ฟิว

         ขณะที่ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประกาศเคอร์ฟิว เป็นการให้ความสะดวกแก่กลไกของรัฐ แต่ไม่เห็นข้อดีที่จะเกิดกับประชาชน ซึ่งการมีกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยประกาศเคอร์ฟิวที่บันนังสตา และยะหา แต่เมื่อประกาศแล้วก็ไม่มีตัวชี้วัดว่าฝ่ายรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์รุนแรงได้ เพราะฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐก็อาศัยช่วงจังหวะที่ฝ่ายรัฐเผลอในการดำเนินการ โดยไม่สนใจว่า ช่วงเวลาไหนมีประกาศเคอร์ฟิว ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัยอย่างแท้จริง

         นอกจากนี้ ฝ่ายพลเรือนกำลังเดินหน้าขบวนการสันติภาพ หากมีการประกาศเคอร์ฟิวก็จะเป็นการกัดกร่อนการทำงานของฝ่ายสันติภาพ ชาวบ้านจะเข้าใจว่าการทำงานกลุ่มเอ็นจีโอ สถาบันการศึกษาที่ทำงานด้านสันติวิธี เป็นการลูบหลัง หลังจากที่เขาถูกตบหัวมาแล้ว ดังนั้น หากจะประกาศเคอร์ฟิว รัฐต้องมีเหตุผลต้องหนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่นี้ หรือใช้วิธีอื่น เช่น การพูดคุย หรือส่งสัญญาณชัดเจนว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่ และจะช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

         ขณะที่ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ในตอนนี้ไม่เหมาะจะประกาศเคอร์ฟิว เพราะการประกาศเท่ากับเป็นการยกระดับความรุนแรง และน่าจะเข้าแผนของผู้ก่อความไม่สงบที่อยากให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาล ทำให้เสียการเมืองในภาพใหญ่ ทั้งที่การก่อเหตุยังอยู่ในรูปแบบเดิม นั่นเพราะเราไม่เข้าใจในขบวน การต่อสู้ของพวกเขา และที่ผ่านมา เราไม่มีแผนต่อสู้ ทั้งการต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ทางทหาร แต่เป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว

ตีแผ่ชีวิตทหารเหยื่อไฟใต้ ถูกทอดทิ้ง มาเยี่ยมแค่ตอนเจ็บ-ถ่ายรูปแล้วกลับ

         ดังนั้น รัฐบาลควรคิดให้ดีว่าถ้าประกาศแล้วจะได้ผลดีอะไรบ้าง เพราะยุทธวิธีเดิมทั้งการตั้งป้อมอยู่กับที่ การจัดชุดลาดตระเวน ก็ทำมาหมดแล้ว สถานการณ์ก็ยังรุนแรงเช่นเดิม ซึ่งส่วนตัวคิดว่า การประกาศเคอร์ฟิวไม่มีข้อดีเลย มีแต่ข้อเสีย ซ้ำยังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเชิงลบต่อภาครัฐมากขึ้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจำเป็นต้องประกาศก็น่าจะใช้รูปแบบเดิม คือ การประกาศในช่วงกลางคืน ตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. เพราะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด

         อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น เมื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสีย การประกาศเคอร์ฟิวในภาคใต้ สามารถสรุปได้ดังนี้ 

ข้อดีของการประกาศเคอร์ฟิว

          เพิ่มความมั่นใจในการลงพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่

          เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทันที

          เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการรุนแรงได้เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปกติ

ข้อเสียของการประกาศเคอร์ฟิว

          ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจการกรีดยางในภาคใต้

          ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

          ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

          ผู้ก่อการร้ายใช้เป็นข้ออ้างโจมตีรัฐบาลว่า ทำให้ประชาชนเดือดร้อน

          การประกาศเคอร์ฟิวไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่

         สำหรับข้อเสียของการประกาศเคอร์ฟิวที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่ช่วยลดความรุนแรงนั้น เนื่องจากเมื่อปี 2549 เคยมีการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา มาแล้ว แต่ไม่มีตัวชี้วัดว่าฝ่ายรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์รุนแรงได้จริง จนต้องมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวไปในที่สุด

         อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงและระดับพื้นที่ไปประเมินความเป็นไปได้ เรื่องข้อดี ข้อเสีย ที่อาจเกิดขึ้น ก่อนประชุมกับทุกฝ่ายเพื่อนหาข้อสรุปต่อไป ดังนั้น อาจต้องรอดูต่อว่าไปว่า หน่วยงานต่าง ๆ จะวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปในทิศทางใด ก่อนที่รัฐบาลจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาให้ประชาชนได้รับทราบกันต่อไป


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลายฝ่ายออกโรงค้านเคอร์ฟิวใต้ ระบุ ข้อดี-ข้อเสีย ไม่ชัดเจน โพสต์เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 17:01:42 2,618 อ่าน
TOP