x close

รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นตรงกัน ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดูแลชายแดนใต้




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

         รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นตรงกัน ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดูแลชายแดนใต้ แทน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน บอกเป็นกฎหมายไม้นวม เนื่องจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฯ มีโอกาสเข้าฝึกอบรมแทนการรับโทษได้

         วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง มีแนวคิดที่จะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ  เข้ามาแทนที่การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พ.ร.บ. มั่นคงฯ นั้นเป็นกฎหมายที่เข้มข้มน้อยกว่า และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัวในคดีความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมแทนการรับโทษได้

         โดยกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ที่รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ใช้ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2551, พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 และกฎอัยการศึก ซึ่งการประกาศใช้นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่

         ทั้งนี้ หากเปรียบกฎมายทั้ง 3 ฉบับนั้น จะพบว่า  พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ถือเป็นกฎหมายไม้นวม ที่เข้มข้นน้อยกว่า และยังมีเงื่อนไขสำคัญตามมาตรา 21 คือ ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ที่ยอมเข้ามอบตัวต่อทางการ สามารถเลือกเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน แทนการรับโทษ ซึ่งทั้งหมดยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า ผู้ต้องหารายนั้น  ๆ ได้กระทำการลงไปเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ โดยให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสิน

         ส่วนการนำ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ มาใช้แทน  พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่กำลังจะหมดอายุในช่วงกลางเดือนหน้านั้น เป็นแนวคิดของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่หวังให้โอกาสกับผู้กระทำผิด เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายลง...

         แต่หากมองในอีกมุมมองหนึ่ง จะพบว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ นั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ดังกล่าว เริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ในสมัยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึงปัจจุบัน โดยบังคับใช้ใน 4 พื้นที่ของ อ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอเดียวในพื้นที่สามจังหวัดที่ประกาศใช้

         สำหรับความสำคัญของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี หลังจากการประกาศใช้ มีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฯ ผ่านกระบวนการอบรมตรามมาตรา 21 เพียง 2 รายเท่านั้น และมีอีก 1 ราย ที่อยู่ในกระบวนการอบรม ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ก็เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งระบุว่า ควรสร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงฯ เพราะผู้ที่ต้องการมอบตัว ไม่มั่นใจว่าจะถูกศาลพิพากษาให้รับผิดหรือไม่ จึงมีผู้เข้าสู่กระบวนการนี้ไม่มากนัก 

         อย่างไรก็ตาม แนวคิดการเปลี่ยนจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ทางรัฐบาลก็ประกาศว่ากำลังเร่งพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนฝ่ายค้านก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนทางด้านฝ่ายกองทัพ ยังไม่กล้าชีชัดว่า สนับสนุนแนวทางนี้หรือไม่ บอกเพียงแต่ว่า การจะบังคับใช้กฎหมายฉบับใด ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหลายพื้นที่อาจต้องบังคับกฎหมายหลายฉบับร่วมกัน



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นตรงกัน ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดูแลชายแดนใต้ โพสต์เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:34:22 1,018 อ่าน
TOP