x close

สาระน่ารู้...ก่อนเข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ กทม. 3 มีนาคม 2556





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
           ร้อนระอุไม่แพ้การเลือกตั้งสนามใหญ่เลยทีเดียว สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556 เวลา 08.00 - 15.00 น. นี้ นั่นเพราะเมืองหลวงแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางบริหารประเทศที่ทั้งพรรคการเมือง และผู้สมัครอิสระ ต่างประกาศจะปักธงตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพมหานครให้จงได้ ขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครก็ต้องตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเอง เพื่อจะได้คนดี มีความรู้ มาจัดการบริหารเมืองใหญ่ที่มีงบประมาณสูงถึง 46,000 ล้านบาทของกรุงเทพมหานคร

           ทั้งนี้ ก่อนจะเข้าคูหาเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่นชอบ กระปุกดอทคอม ขอนำเกร็ดข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมทั้งข้อควรรู้ และข้อห้ามมาบอกกัน จะได้เข้าใจขั้นตอนที่ถูกต้อง และ 1 คะแนนเสียงของเราจะได้ไม่กลายเป็นบัตรเสียค่ะ

          ใครมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556 ได้บ้าง?

           ผู้ที่สามารถลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 ได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

      1. มีสัญชาติไทย หรือแปลงสัญชาติมาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
      2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ (เกิดก่อนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2538)
      3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง (ตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545) หรือก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2555
      4. คุณสมบัติอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด



           จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556 ครั้งนี้มีเท่าไร?

           จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า กรุงเทพมหานครนี้ มีประชากรตามทะเบียนประมาณ 5.7 ล้านคน แต่ผู้ที่จะสามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ได้นั้น มี 4,251,367 คน โดยเขตบางแคมีจำนวนผู้มีสิทธิมากที่สุด คือ 145,854 คน ขณะที่เขตสัมพันธวงศ์ มีจำนวนผู้มีสิทธิน้อยที่สุด คือ 21,583 คน ส่วนเขตอื่น ๆ มีจำนวนดังต่อไปนี้ (อ้างอิงข้อมูลปี 2556 จากกรุงเทพมหานคร)

      คลองเตย 77,473 คน
      คลองสาน 58,139 คน
      คลองสามวา 121,874 คน
      คันนายาว 64,298 คน
      จตุจักร 125,066 คน


      จอมทอง 119,778 คน
      ดอนเมือง 124,804 คน
      ดินแดง 99,717 คน
      ดุสิต 81,574 คน
      ตลิ่งชัน 83,583 คน

      ทวีวัฒนา 58,654 คน
      ทุ่งครุ 86,852 คน
      ธนบุรี 93,265 คน
      บางกอกน้อย 91,534 คน
      บางกอกใหญ่ 56,433 คน


      บางกะปิ 112,769 คน
      บางขุนเทียน 118,864 คน
      บางเขน 144,857 คน
      บางคอแหลม 70,169 คน
      บางแค 145,854 คน

      บางซื่อ 102,154 คน
      บางนา 71,928 คน
      บางบอน 75,061 คน
      บางพลัด 79,660 คน
      บางรัก 32,915 คน


      บึงกุ่ม 111,516 คน
      ปทุมวัน 39,194 คน
      ประเวศ 116,765 คน
      ป้อมปราบศัตรูพ่าย 39,092 คน
      พญาไท 54,616 คน

      พระโขนง 72,970 คน
      พระนคร 43,526 คน
      ภาษีเจริญ 99,226 คน
      มีนบุรี 98,641 คน
      ยานนาวา 61,428 คน


      ราชเทวี 51,904 คน
      ราษฎร์บูรณะ 65,062 คน
      ลาดกระบัง 118,157 คน
      ลาดพร้าว 94,496 คน
      วังทองหลาง 86,425 คน

      วัฒนา 54,864 คน
      สวนหลวง 86,291 คน
      สะพานสูง 67,287 คน
      สัมพันธวงศ์ 21,583 คน
      สาทร 65,094 คน


      สายไหม 139,009 คน
      หนองแขม 111,332 คน
      หนองจอก 110,533 คน
      หลักสี่ 85,203 คน
      ห้วยขวาง 59,878 คน


           จะไปเลือกตั้ง ต้องเตรียมหลักฐานอะไรไปบ้าง?

           บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุก็สามารถใช้ได้) หรือหลักฐานแสดงตนที่ราชการออกให้ โดยมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักพร้อมรูปถ่าย เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบอนุญาตขับขี่, หนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (passport)



           ขั้นตอนการลงคะแนนต้องทำอย่างไรบ้าง?

           สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป โดยเมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งของเราแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

      1. ตรวจสอบรายชื่อที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง และจำลำดับชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ หลังจากนั้นไปตรวจสอบรูปถ่าย ชื่อ และหมายเลขผู้สมัครที่เราจะเลือกเพื่อความแน่ใจ

      2. แสดงตน แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใบอนุญาตขับขี่รถ หรือหนังสือเดินทางไปต่างประเทศต่อกรรมการที่หน่วยเลือกตั้ง และลงชื่อการขอใช้สิทธิในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

      3. ลงชื่อรับบัตรเลือกตั้งในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

      4. รับบัตรเลือกตั้งแล้วไปที่คูหาลงคะแนน กากบาท X ให้ตรงช่องทำเครื่องหมายเท่านั้น และพับบัตรให้เรียบร้อย จากนั้น นำบัตรเลือกตั้งที่ กากบาท X เรียบร้อยแล้วไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง



           หากไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต้องทำอย่างไร?

           ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้ไปแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยกรอกแบบ ส.ถ./ผ.ถ.31 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน



           หากไม่แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ จะต้องเสียสิทธิอะไรบ้าง?

           สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และไม่ได้ไปแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนท้องถิ่น จะต้องเสียสิทธิเลือกตั้ง 6 ประการ ดังนี้

      1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ถ. และ ผ.ถ.
      2. สิทธิร้องคัดค้านการคัดเลือกกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
      3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ถ. และ ผ.ถ.
      4. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
      5. สิทธิเข้าชื่อร้องเรียนขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
      6. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอนถอด ส.ถ. หรือ ผ.ถ.


           ควรรู้อะไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. บ้าง?

      1. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าเหมือนเลือกตั้งทั่วไป ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

      2. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยยื่นความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้ สามารถกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งยังภูมิลำเนาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้ โดยไม่ต้องแจ้งขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิแต่อย่างใด

      3. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เพียง 1 หมายเลขเท่านั้น โดยทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมายของผู้สมัครที่ต้องการเลือก หากทำสัญลักษณ์อื่น เช่น วงกลม, เครื่องหมายถูก, ระบายสี หรือวาดรูปต่าง ๆ จะถือว่าเป็นบัตรเสีย ไม่นับคะแนน



           ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมีอะไรบ้าง?

      1. ห้ามซื้อเสียง และห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

      2. ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2556 จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 3 มีนาคม 2556 ห้ามขาย ห้ามแจก ห้ามจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตกรุงเทพมหานคร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      3. ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง

      4. ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง

      5. ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร

      6. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง และห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ

      สำคัญ *** 7. ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้ว ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ

      8. ไม่จงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเลือกตั้ง

      9. ห้ามเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพล) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง



           หากไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้ง จะสามารถยื่นคัดค้านได้อย่างไร?

           สามารถยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้ภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการร้องคัดค้านเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้ยื่นได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง



           วิธีการยื่นคำร้องคัดค้านต้องทำอย่างไร?

      1. ยื่นคำร้องคัดค้านด้วยตนเอง พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้รับรองสำเนาถูกต้องแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นคำร้องคัดค้านแทนก็ได้ โดยผู้ยื่นคำร้องแทนต้องอยู่ในฐานะที่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการร้องคัดค้านนั้น ในกรณีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นคำร้องแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของผู้ร้องคัดค้านและผู้รับมอบอำนาจ

      2. คำร้องคัดค้านให้ยื่นต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่เหตุแห่งการร้องคัดค้านเกิดขึ้น ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น อาจยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเลขาธิการ กกต. หรือ กกต. ก็ได้



           บุคคลใดบ้างสามารถยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้?

           ผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง คือ บุคคลซึ่งต้องอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น ได้แก่

กรณีก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง

      1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
      2. ผู้สมัคร

กรณีหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

      1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน
      2. ผู้สมัคร
      3. ผู้อำนวยการเขต



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร  , prbangkok.com , สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาระน่ารู้...ก่อนเข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ กทม. 3 มีนาคม 2556 โพสต์เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14:10:11 2,749 อ่าน
TOP