ดอกปาริชาต ดอกไม้แห่งสวรรค์ กับความเชื่อระลึกชาติได้


 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ปาริชาต หรือ ปาริฉัตร เป็นที่นิยมนำมาตั้งชื่อกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งแท้จริงแล้ว ปาริชาต เป็นชื่อของดอกไม้ หรือ ดอกทองหลาง นั่นเอง โดยมีความเชื่อกันว่า ดอกปาริชาต เป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ หากใครได้ดมดอกปาริชาต ก็จะระลึกชาติได้ ได้รู้เห็นอดีตชาติของตนเอง... ถ้าอย่างนั้น เราลองไปค้นหาเรื่องราวที่มาของดอกไม้สวรรค์ดอกนี้กันเลยค่ะ
 
ประวัติและตำนาน
 
          ปาริชาต เป็นต้นไม้แห่งความสมปรารถนาเช่นเดียวกับกามเธนุและเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรเช่นกัน พระอินทร์นำไปปลูกไว้ในสวนของพระองค์บนสวรรคโลก (Svargaloka) ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีขาวแต้มแดงกลิ่นหอมอบอวล


          ในกฤษณาวตาร ภาคหนึ่งของพระวิษณุ ได้แอบไปขโมยต้นปาริชาตจากสวรรค์ตามความปรารถนาของนางสัตยภามา (Satyabhama) ชายาของพระองค์ แต่เกรงว่านางรุกมินี (Rukamini) ชายาอีกคน จะน้อยใจ จึงปลูกต้นปาริชาตไว้ในสวนของนางสัตยภามาแต่หันกิ่งก้านไปทางสวนของนางรุกมินี เวลาที่ดอกปาริชาตร่วงหล่นจะได้ตกใส่สวนของนาง ด้วยเหตุนี้ต้นปาริชาตจากสวรรค์จึงได้ลงมาอยู่บนโลกมนุษย์

          สำหรับผู้ที่เคารพนับถือพระวิษณุ จะทราบดีว่าพระองค์ทรงมีเทวานุภาพขจัดเหล่ามารและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง และพระองค์ทรงคุ้มครองทุกสรรพชีวิต พระวิษณุยังเป็นหนึ่งในเทพ 78 องค์ของไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ ศาสตร์โบราณที่สามารถทำนายโชคชะตามเพื่อหาคำตอบให้กับแนวทางชีวิตในอนาคต และช่วยคลี่คลายปัญหาและความคับข้องใจหมองใจที่เกิดขึ้นกับเรา
 
          อีกตำนานกล่าวถึงหญิงสาวนางหนึ่งหลงรักพระสุริยเทพ นางได้แต่นั่งเฝ้าชมราชรถของพระองค์ขับเคลื่อนผ่านไปทุกเช้าเย็น ช่วงแรกพระสุริยเทพก็สนใจในตัวนางดีแต่ต่อมาไม่นานพระองค์ก็ไปหลงรักหญิงอื่น นางจึงฆ่าตัวตาย จากนั้นต้นปาริชาตก็เกิดขึ้นจากกองเถ้าถ่านที่เผาศพนาง เป็นต้นไม้ที่มีดอกสีขาวแต้มแดงและบานส่งกลิ่นหอมในยามค่ำคืนเท่านั้น เมื่อถึงยามรุ่งอรุณดอกปาริชาตก็ร่วงโรยดุจน้ำตาของนาง  บางครั้งก็เชื่อกันว่า ดอกปาริชาตเป็นดอกไม้แห่งความเศร้า
 

          แต่ในวรรณคดีทางพุทธศาสนา เช่น เตภูมิกถา และ กามนิตวาสิฏฐี กล่าวว่า ต้นปาริชาต คือ ต้นทองหลาง อยู่ในปุณฑริกวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ มีดอกสีแดงฉาน ร้อยปีจึงจะบานสักครั้ง ทุกครั้งที่บานจะส่งกลิ่นหอมและมีแสงสว่างไปทั่ว เหล่าเทพบุตรเทพธิดาจะมาฉลองร่วมกันใต้ต้นปาริชาต
 
          ผู้ใดที่ต้องการดอกไม้ไปทัดหูเพียงยื่นมือออกไปดอกไม้นั้นก็หล่นลงมาเอง หากรับไม่ทันจะมีลมหมุนวนประคองไว้จนกว่าจะรับได้ กลิ่นของดอกปาริชาตจะทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปเกิดอาการวิงเวียนและสามารถระลึกชาติได้  ตั้งแต่ชาติที่ใกล้ที่สุดจนถึงชาติที่ไกลโพ้นออกไป ในขณะที่ดอกปาริชาตในอินเดีย คือ ดอกกรรณิการ์ ของไทยเรานั่นเอง เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่  และเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระกฤษณะ
การกล่าวถึงในวรรณกรรมต่าง ๆ
 
มหากาพย์เทวภูมิ ชั้นที่ 2 ดาวดึงส์
 
          "นอกเมืองดาวดึงส์ออกไป ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ปุณฑริกวัน มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน กลางสวนมีไม้ทองหลางใหญ่ต้นหนึ่ง เป็นไม้ทิพย์ชื่อว่า ปาริชาต ต้นปาริชาต นี้ จะมีดอกบานครั้งหนึ่งต่อเมื่อครบหนึ่งร้อยปี พูดง่าย ๆ ว่าร้อยปีจะดอกบานครั้งหนึ่ง และขณะที่ดอกปาริชาตนี้บานจะมีรัศมีเรืองไปไกลถึงแปดแสนวา และเมื่อลมพัดไปทางทิศใด ลมมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทิศนั้นไกลแสนไกล
 
          กลิ่นหอมนั้นจะตลบอบอวลอยู่ทั่วบริเวณสวรรค์ชั้นนี้นานเท่านาน กล่าวกันว่า ยามที่ดอกปาริชาตนี้บาน จะมีเหล่าเทพบุตรเทพธิดามาเล่นสนุกสนานใต้ต้นปาริชาตนี้เป็นจำนวนมากและกลิ่นปาริชาตที่โชยโรยรินมาต้องเทพบุตรเทพธิดาองค์ใด จะช่วยทำให้เทพบุตรเทพธิดาองค์นั้นระลึกชาติได้อย่างอัศจรรย์"
 
กามนิต - วาสิฏฐี (ภาคสวรรค์)


ตอนที่ 24  ต้นปาริชาต
 
          "...ครั้นแล้วช่องเขาก็เลี้ยวหักมุมสองสามแห่ง และในทันใดนั้นก็เป็นช่องว่างขึ้น ดูบริเวณรอบตัว เห็นเป็นหุบเขาลึก มีหินผาสกัดกั้นไว้ด้วยยอดสูงลิบลิ่วดูเหมือนจดขอบสวรรค์ กลางหุบเขามีไม้ประหลาดต้นหนึ่ง ลำต้นและกิ่งเรียบรื่นเป็นสีแดงดั่งแก้วประพาฬ ใบแกมเหลืองแก่มีดอกแดงเข้มส่งสีรุ่งโรจน์ราวกับจะลุกไหม้
 
          เหนือยอดชะง่อนผาและยอดไม้นั้น เป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินแก่ จะหาเมฆสักก้อนก็ไม่มี เสียงทิพยดนตรีไม่แล่นมาถึงได้พอ แต่ว่าในอากาศยังสะเทือนอยู่ ประหนึ่งว่าเป็นกระเส็นกระสายของคลื่นเสียงดนตรีที่เคยได้ยินมานานแล้ว แต่ระลึกเสียงได้ลาง ๆ
 
          ในหุบเขานั้น มีสีสันก็เพียงสาม คือสีน้ำเงินแก่ของท้องฟ้า สีเขียวของหิน และสีแดงประพาฬของต้นไม้ และมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นเดียว กลิ่นหอมอันน่าพิศวงไม่เหมือนกลิ่นหอมอื่น ๆ เป็นกลิ่นมาจากดอกไม้สีแดงจัด ซึ่งเท่ากับดูดดึงให้กามนิตมา
 
          ในทันใดนั้น ลักษณะประหลาดแห่งกลิ่นหอมก็เริ่มสำแดงอาการ กล่าวคือ ขณะกามนิตสูดกลิ่น ซึ่งตลบฟุ้งอยู่ทั่วหุบเขานั้น ความรู้สึกระลึกเรื่องหนหลังได้แล่นพรูเข้าสู่ใจโดยเร็ว ทำลายทะลุฝ้ามืดที่กำบังไว้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นในสระจนบัดนี้ กามนิต ระลึกถึงความเป็นไปในอดีตได้ตลอด..."
 
ตอนที่ 29 ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
 
          "อันความจริง ผู้อุปปาติกะใหม่ทั้งสอง มิได้เยี่ยมฝั่งคงคาสวรรค์อันไม่น่าดูน่าชมอีกต่อไป เป็นแต่เลื่อนลอยไปสู่หุบเขาต้นปาริชาตเนือง ๆ ได้ไปนั่งพักนอนเล่นอยู่ในควงปาริชาตอันแผ่กิ่งก้านสาขา สูดเอากลิ่นหอมอันตลบมาจากดอกแดงดั่งแสงชาด กระทำให้ระลึกถึงชาติก่อน ๆ แจ่มแจ้งขึ้นเป็นลำดับ ย้อมหลังล่วงไปในอดีตชาติอันไกลแสนไกล..."

 


ข้อมูลพฤษศาสตร์ของต้นปาริชาต หรือ ต้นทองหลาง
               
- ลักษณะ
 
          เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5-10 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามเรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางจะโตกว่าสองใบด้านข้าง ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร รูปดอกถั่ว สีแดงเข้ม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นฝักยาว 15-30 เซนติเมตร
               
- ชื่อพื้นเมือง
                
          ทองหลาง, ทองหลางด่าง (กรุงเทพฯ) ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองเผือก (ภาคเหนือ)
               
- ชื่อวิทยาศาสตร์
                
          Rrythrina variegata Linn..
               
- ชื่อสามัญ
                
          Indian Coral Tree, Variegated Coral Tree, Variegated Tiger's Claw, Tiger's Claw, Parijata
               
- ชื่อวงศ์
               
          PAPILIONCEAE
               
- ถิ่นกำเนิด
               
          พบทั่วไปในเอเชียเขตอบอุ่น และเขตร้อน เช่น อินเดีย
               
- สภาพนิเวศ
               
          ชอบขึ้นริมน้ำ
               
- การขยายพันธุ์
               
          ปักชำกิ่ง เพาะเมล็ด
               
- ประโยชน์
               
          ใบอ่อนเป็นผัก การปลูกพลูถ้าให้เลื้อยขึ้นบนต้นทองหลาง พลูจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทางยา จีนใช้เปลือกต้นเป็นยาแก้ไอ ในโมร็อกโก ใช้เปลือกต้นเคี้ยวรักษาบิด
 
- ต้นปาริชาต เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี
**หมายเหตุ : แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 4 มีนาคม 2556


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 , janicha.net , biogang.net
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดอกปาริชาต ดอกไม้แห่งสวรรค์ กับความเชื่อระลึกชาติได้ อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 14:16:25 143,172 อ่าน
TOP
x close