x close

กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน. ชี้ มีแต่รัฐบาลได้ประโยชน์



กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน. ชี้ มีแต่รัฐบาลได้ประโยชน์

กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน. ชี้ มีแต่รัฐบาลได้ประโยชน์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  ครอบครัวข่าว 3

         กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่กลุ่ม ส.ส.-ส.ว. ยื่นสภาฯ ชี้ เปิดช่องรัฐบาลได้ประโยชน์ทั้งนั้น ทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายอุดมเดช รัตนเสถียร ที่ปรึกษาวิปรัฐบาล และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมกับทางฝั่ง ส.ว. นำโดย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี และ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมกับ ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา กว่า 60 คน ได้ยื่นขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราต่อประธานรัฐสภา โดยจะมีการยกร่างแก้ไขเป็น 3 ร่าง คือ

         1. มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่าการลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเสนอให้แก้มาตรานี้เป็นประเด็นแรก โดยจะแก้มาตรา 68 ด้วย คือ ให้ระบุชัดว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนตาม มาตรา 68 ให้อัยการมีอำนาจรับเรื่องไว้ โดยไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงอย่างที่ผ่านมา

         2. มาตรา 190 เกี่ยวกับเรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศ เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลย่อมมีปัญหาทำให้เรื่องที่เป็นความลับถูกเปิดเผย จนทำให้เสียเปรียบในการชิงไหวชิงพริบกับประเทศ

         และ 3. มาตรา 117 เรื่องที่มาของ ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งประเด็นนี้ ทางฝั่งพรรครัฐบาลและพรรคร่วมต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการแก้ไขเพราะไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

         อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลุ่ม 40 ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมองว่าเป็นการทำลายกลไกการถ่วงดุล ซึ่ง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. ระบุว่า ทางสมาชิกในกลุ่มจะนัดหารือกันเรื่องนี้ในเย็นวันนี้ เพราะมองว่า การยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยการทำหน้าที่ที่ต้องปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

         ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยังบอกด้วยว่า ในมาตรา 68 ที่จะมีการแก้ไขเพื่อเปิดช่องให้มีการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้ามายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้นั้น เป็นการลดอำนาจเต็มของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาพิจารณา

         ส่วนมาตรา 117 ที่จะแก้ไขให้มีเฉพาะ ส.ว.เลือกตั้งเท่านั้น นายไพบูลย์ มองว่า จะทำให้ ส.ว. กลายเป็นคนของพรรครัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของ ส.ส.พรรครัฐบาล หากเป็นเช่นนี้จะเป็นการเปิดทางให้มีการพิจารณาถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลรัฐบาลอยู่ เมื่อพิจารณา 2 มาตรานี้ จะเห็นว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านร่างแก้ รธน. ชี้ มีแต่รัฐบาลได้ประโยชน์ โพสต์เมื่อ 20 มีนาคม 2556 เวลา 16:30:50
TOP