x close

อึ้ง! ที่ปรึกษาเมกะโปรเจคท์ 2.2 ล้านล้าน มีมูลค่างานกว่า 6 หมื่นล้าน


ที่ปรึกษาเมกะโปรเจคท์ 2.2 ล้านล้าน มีมูลค่างานกว่า 6 หมื่นล้าน
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


            บริษัทที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศเตรียมแข่งประมูล โครงการเมกะโปรเจคท์พัฒนาระบบขนส่งไทยงบลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทกันอย่างคึกคัก เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการใน 7 ปี จะมีมูลค่างานในภาพรวมสูงถึง 60,000 ล้านบาท

            สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น

            ล่าสุด ในวันนี้ (22 มีนาคม) มีรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงแผนลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของกระทรวงคมนาคม 92 โครงการ ที่จะมีการเปิดประมูลคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาออกแบบรายละเอียด บริหารโครงการ และควบคุมการก่อสร้างทุกโครงการ มีอัตราค่าจ้างมาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.75% ของวงเงินลงทุนแต่ละโครงการ

            นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า กระบวนการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ตนจะบริหารจัดการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้ได้งานมีคุณภาพคุ้มค่ากับเม็ดเงินงบประมาณ อย่างน้อยที่สุดในสัญญาจ้างจะต้องมีการประเมินผลงานของบริษัทที่ปรึกษาด้วย หากงานล่าช้าที่ปรึกษาก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับผู้รับเหมาก่อสร้าง

            ทั้งนี้ โครงการหลัก ๆ ที่อยู่ในบัญชีลงทุนภายใต้งบฯ 2.2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง 4 สาย รถไฟฟ้า 10 สาย ขยาย 4 ช่องจราจร ปรับปรุงทางหลวงเชื่อมระหว่างภาค มอเตอร์เวย์ 3 สาย แต่นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เหลือซึ่งเป็นโครงการย่อย ๆ อีกกว่า 100 โครงการ เพราะจะเป็นการลงลึกรายละเอียดเพื่อประมูลก่อสร้างต่อไป

            อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจบริษัทที่ปรึกษา ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศกำลังเตรียมความพร้อมและรองานประมูลในส่วนการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ในแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2563

            จากการประเมินวงเงินเฉพาะค่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เบื้องต้นคาดว่าภายใน 7 ปีนี้จะมีมูลค่างานในภาพรวมสูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยคิดคำนวณจากฐานค่าจ้างมาตรฐานแต่ละงานตามมูลค่าการลงทุนรายโครงการ เช่น งานศึกษาและออกแบบรายละเอียด ค่าจัดจ้างที่ปรึกษาจะอยู่ที่ประมาณ 1.75% งานควบคุมไซต์ก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 2% และงานบริหารโครงการอยู่ที่ประมาณ 1% เป็นต้น

            ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สัดส่วนเงินลงทุนได้ข้อสรุปเบื้องต้น เช่น ระบบรางใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย เนื่องจากจะต้องปรับเพิ่มวงเงินรถไฟความเร็วสูง 4 สายทางใหม่ จากเดิม 753,105 ล้านบาท เป็นเกือบ 800,000 ล้านบาท ส่วนการขยายเส้นทางจากนครราชสีมา-หนองคาย มีวงเงินเพิ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและเป็นค่าเวนคืน แผนเดิมก่อสร้างเฟสแรก จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเท่านั้น รวมถึงเพิ่มเงินลงทุนสายกรุงเทพฯ-หัวหินประมาณ 500 ล้านบาท เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาส่วนต่อขยายจากหัวหิน-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น

            ซึ่งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ตัวนโยบายจะทำครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ทยอยทำภายใน 7 ปีนี้ โดยช่วง 5 ปีแรกทำเฉพาะ 4 สาย ต้นทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ หัวหิน โคราช และระยอง ส่วนที่เหลือจะเป็นเฟส 2 เช่น โคราช-หนองคาย กับหัวหิน-ปาดังเบซาร์

            อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของงบลงทุนระบบขนส่งทางน้ำ จะใช้วงเงินลงทุนเท่าเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการของกรมเจ้าท่า (จท.) เช่น สร้างท่าเรือ จ.ชุมพร 1,713 ล้านบาท, ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 วงเงิน 3,613 ล้านบาท, เขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำป่าสัก 11,387 ล้านบาท และท่าเรือปากบาราระยะที่ 1 วงเงิน 11,786 ล้านบาท เป็นต้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ้ง! ที่ปรึกษาเมกะโปรเจคท์ 2.2 ล้านล้าน มีมูลค่างานกว่า 6 หมื่นล้าน โพสต์เมื่อ 22 มีนาคม 2556 เวลา 13:56:24 2,172 อ่าน
TOP