x close

พันธมิตรฯ ร่อนแถลงการณ์ ค้านแก้ รธน. ชี้เอื้อประโยชน์นักการเมือง


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          พันธมิตรฯ แถลงค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา เอื้อประโยชน์นักการเมือง พร้อมคัดค้านกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยสนับสนุน ส.ว. กับ อดีต สสร. 50 ที่ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกันได้เตรียมให้ทนายหาช่องทางเอาผิดเพิ่มเติม

         เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันนี้ (4 เมษายน) ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2556 เรื่อง คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และคัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้...

          สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เป็นรายมาตรา อันได้แก่ มาตรา 68 มาตรา 111 มาตรา 190 และมาตรา 237 และการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศซึ่งจะสร้างหนี้สินให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงต่อไปดังนี้

          ประการแรก กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 นั้น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะลดและริดรอนสิทธิประชาชน ในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา 68 ได้เฉพาะในหมวดที่ 3 อันหมายถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น และนั่นหมายความว่า หากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งอยู่ในหมวดที่ 5 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะผ่านอัยการสูงสุดหรือไม่ก็ตาม

         อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในหมวดที่ 3 ก็ยังต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอัยการต่างได้รับผลประโยชน์และตำแหน่งจากการเป็นคณะกรรมการในกิจการรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการลดอำนาจประชาชน และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาล หลีกเลี่ยง และขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจากประชาชนไม่ให้เข้าถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังกล่าว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เช่นนี้

         ประการที่สอง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 นั้น เป็นสิ่งที่อันตรายต่อประเทศชาติ เพราะได้ตัดหนังสือสัญญา 3 กลุ่มใหญ่ออกจากมาตรา 190 ปัจจุบัน หากสำเร็จด้วยเสียงข้างมาก หนังสือสัญญา 3 ประเภทต่อไปนี้ จะไม่ต้องนำเข้ามาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไป ได้แก่

         1.หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

         2.หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

         3.หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นการทำลายการถ่วงดุลตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน และยังล้มเลิกกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมอีก 4 ขั้นตอนตามมาตรา 190 เดิม อันได้แก่

         3.1 การล้มเลิกขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

         3.2 การล้มเลิกขั้นตอนคณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา

         3.3 การล้มเลิกขั้นตอนก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น

         3.4 การล้มเลิกขั้นตอนในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ถือเป็นการรวบอำนาจตัดกระบวนการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน รวมถึงตัดสิทธิ์ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการสัญญาระหว่างประเทศของรัฐบาล

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เช่นนี้

          ประการที่สาม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 111 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเพิ่มจำนวนเป็น 200 คน ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง และทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2557 สามารถสมัครรับเลือกตั้งต่อได้ทันที ซึ่งกรณีดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งในเบ้าหลอมลักษณะเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นผลทำให้สมาชิกวุฒิสภาต้องอาศัยฐานเสียงเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องอาศัยอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์เดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          ดังปรากฏเห็นได้ชัดเจนในทุกวันนี้ว่า สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐบาลได้จริง และทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากได้ปฏิบัติตัวเป็นทาสของฝ่ายรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ยังมีความมุ่งหมายให้กระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมาจากสมาชิกวุฒิสภานั้นยังคงอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดการรวบอำนาจ และทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้จริงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540

         อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการเพิ่มวาระให้กับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ อีกทั้งยังมีสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวด้วย จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์และย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 122 อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 เช่นนี้

          ประการที่สี่ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรณีดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่านักการเมืองเหล่านี้ไม่มีความจริงใจที่จะเพิ่มบทลงโทษรุนแรงกับผู้ที่กระทำความผิดทุจริตเลือกตั้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกทั้งผู้เสนอทั้งหมดก็จะได้ประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและตำแหน่งของตนเองจึงถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์และย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 122 อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เช่นนี้

          พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา และขอสนับสนุน เห็นด้วย และให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่ได้ยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่ขัดกันกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งประเด็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้และเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติมและหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุด

          ประการที่ห้า การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศซึ่งจะสร้างหนี้สินให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว หลีกเลี่ยงในวิธีพิจารณางบประมาณโดยปรกติ โดยไม่มีความชัดเจนและรายละเอียดเนื้อหาของแต่ละโครงการ และยังมีบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 ที่ไม่นำเงินส่งคลังตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และยังให้อำนาจให้กระทรวงการคลังนำเงินจากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายได้อีกด้วย

          ในขณะที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 กำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวข้องด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กรณีดังกล่าวจึงเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และในเมื่อกรณีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจในการที่อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ลงโทษต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นด้วย และขอสนับสนุน พร้อมให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่จะยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 นี้ต่อไป

          ดังนั้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และมีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พันธมิตรฯ ร่อนแถลงการณ์ ค้านแก้ รธน. ชี้เอื้อประโยชน์นักการเมือง โพสต์เมื่อ 4 เมษายน 2556 เวลา 15:10:43 1,155 อ่าน
TOP