x close

ไทยแจงศาลโลก สู้คดีเขาพระวิหาร ชี้ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ได้


คดีเขาพระวิหาร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

          เริ่มแล้ว! วีรชัย พลาศรัย ขึ้นในการศาลโลก ชี้ เขมรร้องขอให้ตีความโดยมิชอบ เป็นการขัดข้อบังคับ ยัน เขมรยอมรับพื้นที่นี้มากว่า 50 ปี ด้านทีมกฎหมายฝ่ายไทย ชี้ กัมพูชาหวังให้ศาลพิพากษาใหม่ รวมพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เข้าไปด้วย ซัด เป็นคำขอที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 เมษายน นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยสู้คดีปราสาทพระวิหาร ได้ขึ้นให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก เป็นคนแรกของฝ่ายไทย โดยระบุว่า คำร้องขอของกัมพูชานั้นรับฟังไม่ได้ เพราะเป็นเหมือนคำอุทธรณ์ ถือว่าเป็นคำร้องโดยมิชอบ และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างไปจากข้อพิพาทเดิมก่อนปี 2505

วีระชัย พลาศรัย

          ทั้งนี้ นายวีรชัย ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ไทยเคารพต่อคำสั่งศาลมาโดยตลอด เพราะหลังมีคำพิพากษาออกมาในปี 2505 ไทยก็ได้ถอนกำลังออกมา ในส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นข้อพิพาทนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาของศาลโลก ปี 2505 และก่อนหน้านี้ตลอด 50 ปี กัมพูชาก็ไม่เคยประท้วงเรื่องนี้ และยอมรับในการทำกิจกรรมของฝ่ายไทยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาตลอด

          แต่เมื่อต้นปี 2543 พื้นที่ของไทยกลับถูกล่วงล้ำเข้ามาซึ่งหน้าตามเอ็มโอยู ดังนั้นจึงได้เกิดการประท้วงตามมา แม้ไทยจะพยายามใช้กลไกในคณะกรรมการเจบีซีเจรจา แต่กัมพูชายิ่งพยายามหยิบฉวยดินแดนของไทยที่จะขึ้นทะเบียนอีก ทำให้ไทยประท้วงมากยิ่งขึ้น โดยทางกัมพูชาเป็นฝ่ายยั่วยุ ไทยจึงต้องใช้สิทธิป้องกันตนเองตามกฎหมายประเทศ

          นายวีรชัย ยังระบุด้วยว่า ทางกัมพูชาไม่มีหลักฐานใหม่ ๆ แต่สร้างเรื่องโดยจัดทำเอกสารขึ้นมาเอง 10 ประเภท และยังยื่นเอกสารปลอมแปลงให้ศาลด้วย เท่ากับว่ากัมพูชากำลังใช้ศาลเป็นเครื่องมือ ถือว่ากระทำไม่ชอบไม่ถูกต้อง ทำให้ศาลเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง

ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์

ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์

          จากนั้น เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดน ทีมกฎหมายฝ่ายไทย ก็ได้ขึ้นชี้แจงต่อศาลโลกว่า การที่กัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลโลกครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการให้ศาลตีความคำวินิจฉัยปี 2505 แต่ต้องการให้ศาลเปลี่ยนคำพิพากษา จากสิ่งที่กัมพูชาแสดงในย่อหน้า 45 เพราะไม่มีเหตุหรือผลใดต่อการตีความ ด้วยเป็นคำกล่าวลอย ๆ และทางกัมพูชาพยายามยกให้ครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วย ดังนั้น การยกเรื่องนี้มาให้ศาลโลกพิจารณานั้นไม่สมเหตุสมผล และเป็นคำขอที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม หวังให้ศาลโลกพิพากษาใหม่ เท่ากับเป็นการบ่อนทำลายสิ่งที่ศาลโลกเคยทำเอาไว้ปี 2505

อลินา มิรอง

อลินา มิรอง


          ด้าน นางสาวอลินา มิรอง ผู้ช่วยของศาสตราจารย์ อแลน แปลเลต์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแผนที่โดยเฉพาะ ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกว่า แผนที่ของกัมพูชาผิดพลาด โดยถ้าดูจากแผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อ้างจะเห็นว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบปราสาทเลย โดยเฉพาะแผนที่ภาคผนวก 85D เป็นหนึ่งใน 5 แผนที่สำคัญที่ถูกตีพิมพ์ออกมาและเป็นส่วนที่ศาลหามาประกอบเอง แต่กัมพูชากลับพูดถึงแผนที่ภาคผนวก 1

          ทั้งนี้ นางสาวอลินา ได้ยกแผนที่มาประกอบคำชี้แจงด้วย โดยระบุว่า แผนที่ปี 2505 ไม่ละเอียดเท่ากับแผนที่ปัจจุบัน และภาพแผนที่ฉบับเก่านั้น ศาลโลกใช้พื้นที่เพียง 4% ในการตัดสิน ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นมา

          นางสาวอลินา บอกด้วยว่า ทางไทยทราบดีว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวปราสาทจะเป็นของกัมพูชา แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชานำมาใช้ ก็ไม่ได้บอกว่ากัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่อื่น ๆ

          จากนั้น เมื่อเวลา 17.35 น. ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความชาวออสเตรเลีย ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทย ก็ได้ขึ้นให้ถ้อยแถลงต่อศาลโลกเป็นคนที่ 5





คดีเขาพระวิหาร

ไทย เตรียมยก 4 ยุทธศาสตร์ สู้คดีเขาพระวิหาร

           ไทย ชู 4 ยุทธศาสตร์ ชี้แจงต่อศาลโลกบ่ายวันนี้ (17 เมษายน) สู้คดีเขาพระวิหาร มั่นใจ ศาลไม่มีอำนาจตัดสินเขตแดน ด้านทีมสู้คดีเตรียมปรับเนื้อหาบางส่วนให้มีน้ำหนักมากกว่าที่กัมพูชาพูด

           เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการต่อสู้คดีเขาพระวิหารว่า คณะดำเนินด้านกฎหมายต่อสู้คดีของไทย จะใช้ 4 ยุทธศาสตร์ ในการชี้แจงต่อศาลโลกในวันที่ 17 เมษายนนี้ ประกอบด้วย

           1. พยายามชี้ให้ศาลโลกเห็นว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา และกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง

           2. กัมพูชาไม่สิทธิยื่นศาลเพื่อขอตีความคำตัดสินคดีเดิมในรูปแบบการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปของคำขอตีความ ซึ่งขัดต่อธรรมนูญของศาลโลกและขัดต่อแนวคำพิพากษาเดิม ในคดีปี 2505

           3. ไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกครบถ้วน และไทยและกัมพูชา ไม่มีข้อพิพาทเรื่องการตีความคำพิพากษา

           และ 4. คำตัดสินเมื่อปี 2505 ศาลได้กล่าวถึงอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร โดยไม่ได้ระบุถึงเส้นเขตแดน ดังนั้น พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กัมพูชาเรียกร้องในปัจจุบัน ไม่ใช่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร


           ทั้งนี้ มั่นใจว่า 4 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสามารถหักล้างข้อโต้แย้งของฝ่ายกัมพูชาได้ เพราะไทยจะพยายามชี้ว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่อาจรับคำร้องของกัมพูชาได้ และถ้าศาลเห็นว่า ศาลมีอำนาจรับคำขอได้ ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องตีความ เพราะศาลปฏิเสธการตีความเรื่องเขตแดนมาตั้งแต่คำพิพากษาเดิม หากศาลโลกมีอำนาจในการกำหนดเส้นเขตแดนก็คงตัดสินไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว ไม่ปล่อยให้ผ่านมาเนิ่นนานเช่นนี้

           นอกจากนี้ นายไกรรวี ยังระบุด้วยว่า ไทยมีหลักฐานพร้อมที่จะยืนยันว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เหตุใดกัมพูชาไม่เคยท้วงติงเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเลย แต่ปัจจุบันกลับมายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความ นั่นเพราะกัมพูชาต้องการจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์กินเข้ามาในดินแดนไทยจำนวนมาก

คดีเขาพระวิหาร

           ด้าน นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ให้สัมภาษณ์จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า หลังจากได้ฟังการชี้แจงทางวาจาจากกัมพูชาแล้ว ก็พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ไทยประเมินไว้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่กัมพูชาขยายเพิ่มเติม ดังนั้น ทางทีมก็จะได้ปรับเนื้อหาบางประเด็นเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาที่ฝ่ายกัมพูชาพูด เพื่อให้มีน้ำหนักที่ดีกว่า

           ในส่วนของคณะล่ามที่แปลการชี้แจงทางวาจาระหว่างการถ่ายทอดสดนั้น นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร ระบุว่า ต้องขออภัยที่มีความขลุกขลักบางส่วนในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา แต่ในวันที่ 17 เมษายนนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้ล่ามสามารถถ่ายทอดได้ดีขึ้น

           ขณะที่ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก็ได้กล่าวก่อนขึ้นชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลโลก ว่า สิ่งที่กัมพูชาขึ้นชี้แจงไปเมื่อวันที่ 15 เมษายนนั้นส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน มีเรื่องใหม่น้อยมาก คือมีเพียงแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น คือ

           1. เรื่องแผนที่ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา ทั้งนี้ กัมพูชาได้ยึดแผนที่อันเดียวมาตลอด แต่เขาบอกว่ามีแผนที่อื่น ๆ อีก ซึ่งในการพิจารณาคดีเก่ามีการนำแผนที่มาใช้อ้างอิง 60 ฉบับ และศาลโลกได้นำมาผลิตแนบเข้ามาในประมวลคดี 6 ฉบับ

           2. เรื่องข้อเท็จจริงหลังคำพิพากษา คือพฤติกรรมของคู่คดีจากปี 2505 ถึงปัจจุบัน

           ทั้งนี้ นายวีรชัย ยังบอกด้วยว่า ทางไทยเตรียมจะนำเสนอแผนที่หลายฉบับต่อศาลโลก ซึ่งนั่นก็ทำให้กัมพูชากล่าวต่อศาลโลกว่า ไม่เข้าใจว่าไทยต้องมาเสนอเอกสารอะไรมากมาย เป็นการไม่เคารพศาลโลก แต่เราก็เตรียมจะโต้แย้งเขาในวันนี้ โดยไม่ได้ใช้เหตุผลเรื่องแผนที่เพียงอย่างเดียว ยังจะมีประเด็นอื่น ๆ ด้วย

           นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 เมษายน ตนจะขึ้นพูดเป็นคนแรก ตามด้วย ศ.โดนัล เอ็ม แม็คเรย์ และ น.ส.อลินา มิรอง ซึ่ง น.ส.มิรอง นี้ จะพูดเรื่องแผนที่ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ ตามด้วย ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือ ศ.แปลเล่ต์ พร้อมยืนยันว่าจะต่อสู้เต็มที่ และสนุกแน่

           สำหรับกำหนดการที่ไทยจะขึ้นแถลงต่อศาลโลกวันนี้นั้น รอบแรกจะมีขึ้นในเวลา 15.00-18.00 น. และจะพัก 2 ชั่วโมง ก่อนจะขึ้นชี้แจงเป็นรอบที่ 2 ในเวลา 20.00-21.30 น.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
             






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยแจงศาลโลก สู้คดีเขาพระวิหาร ชี้ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12:18:57 21,027 อ่าน
TOP