x close

ปชป. จวก กัมพูชา แถลงเท็จต่อศาลโลก แนะรัฐตอบโต้อย่างรอบคอบ




 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ชวนนท์ จวกประเทศกัมพูชาแถลงความเท็จต่อศาลโลก โดยเผยถึง 5 ประเด็น ที่มีการกล่าวอ้างเพิ่มเติม พร้อมแนะรัฐบาลโต้แย้งอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในบางข้อไทยกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

            เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวถึงการแถลงด้วยวาจาของกัมพูชารอบแรกต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก กรณีปราสาทพระวิหาร ว่า ตนมีข้อสังเกตซึ่งอยากให้รัฐบาลและผู้แทนไทยใช้ความระมัดระวังในการตอบโต้ เพราะจากให้การของทนายความของกัมพูชามีความพยายามใช้ข้อหักล้างในการใช้ความเท็จหลายประการ ที่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ใน 5 ประการดังนี้

            1. กัมพูชาพูดหลายครั้งในการแถลงว่า ประเทศไทยใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธสงครามรุกรานเข้าไปในดินแดนกัมพูชาก่อน หลังจากกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยต้องชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเทศไทยไม่เคยเริ่มต้นใช้ความรุนแรงก่อน มีแต่ฝ่ายกัมพูชาที่พยายามยั่วยุ ทำให้เกิดความรุนแรง โดยดูได้จากความเสียหายของหมู่บ้านภูมิซรอล

            ส่วนความเสียหายบริเวณปราสาทพระวิหาร ก็เกิดจากการที่กัมพูชานำกำลังไปตั้งไว้ก่อน ทำให้ไทยก็ต้องมีการตอบโต้ รัฐบาลไทยและผู้แทนไทยต้องประท้วงในประเด็นนี้อย่างจริงจัง ซึ่งกัมพูชาได้เคยนำเรื่องดังกล่าวไปกล่าวอ้างต่ออาเซียน สหประชาชาติ และศาลโลก ซึ่งบางครั้งก็รายงานเหตุการณ์ความรุนแรงไปยังสหประชาชาติ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงเจตนาของกัมพูชาที่ทำให้สังคมโลกเห็นว่าไทยเป็นผู้รุกราน

            2. กัมพูชาพยายามสร้างภาพและมีการย้ำหลายครั้งว่า ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกในการถอนทหาร ซึ่งตนยืนยันว่า ไทยกับกัมพูชาได้มีการหารือแบบทวิภาคีเพื่อการถอนทหาร และส่งผู้สังเกตการณ์ คือ ประเทศอินโดนีเซีย เข้าตรวจสอบโดยตลอด ซึ่งความจริงทั้ง 2 ฝ่ายมีความพยายามในการถอนทหารร่วมกันอยู่แล้ว ภาพเหล่านี้เป็นความพยายามของกัมพูชา ที่จะสร้างภาพร้ายให้กับประเทศไทยว่า รังแกประเทศที่เล็กกว่า เป็นเทคนิคตื้น ๆ  เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องมีการชี้แจง อย่าปล่อยให้กัมพูชากล่าวหาไทยอยู่ฝ่ายเดียว

            3. กัมพูชาพยายามอ้างว่าแผนที่ 1 : 200,000 หรือ แผนที่ภาคผนวก 1 ถูกยอมรับจากศาลโลกเมื่อ 2551 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2505 ซึ่งศาลโลกไม่เคยรับรองแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งคำพิพากษาเมื่อ 51 ปีก่อนครอบคลุมใน 3 ประเด็น ดังนี้

            3.1. ตัวปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา
            3.2. ควรจะมีการถอนทหารโดยรอบพื้นที่เขาพระวิหาร
            3.3. หากมีวัตถุโบราณในตัวปราสาท ไทยต้องคืนให้กัมพูชา

            แต่นอกเหนือไปจากนี้ กัมพูชาพยายามบอกว่า เมื่อศาลโลกพิพากษาดังนี้แล้ว ไทยต้องยอมรับในแผนที่ฉบับดังกล่าวด้วย 

            นายชวนนท์ ย้ำว่า การที่ทนายความของกัมพูชากล่าวอ้างเช่นนั้น เป็นการพูดแบบศรีธนญชัย ซึ่งรัฐบาลจะต้องยืนยันอย่างแข็งขันว่า ศาลโลกยังไม่ได้รับรองแผนที่ดังกล่าว อย่าให้กัมพูชาใช้ศัพท์ง่าย ๆ อย่างคำว่า ลักไก่ได้ และรัฐบาลต้องไม่ยอมรับว่า เมื่อ 51 ปีที่ผ่านมา เขาได้ไปหมดแล้ว เพราะนั่นคือความเท็จ ไทยต้องสู้ในเรื่องนี้ เพราะสาเหตุที่เราเพลี่ยงพล้ำในเรื่องนี้เมื่อ 51 ปีก่อน เกิดจากองค์ประกอบอื่นอย่าง พ.ร.บ.ปิดปาก ไม่ใช่เรื่องของแผนที่ การที่กัมพูชากลับไปให้ศาลโลกชี้ความถูกต้องเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้น เป็นการขยายคำพิพากษาเดิม ไม่ใช่การตีความ

            ดังนั้น การแถลงความในครั้งนี้จึงเป็นการขอมากกว่า 51 ปีที่แล้ว ที่กัมพูชาเคยได้ ซึ่งขัดต่อข้อ 60 ของข้อบังคับของศาลโลก ที่ระบุชัดว่า ศาลไม่มีอำนาจขยายอำนาจคำพิพากษาเดิมของตนเอง หากแต่สามารถตีความได้หากคู่กรณีนั้นมีความเห็นต่าง ซึ่งกัมพูชาก็ทราบดีว่า เขามีปัญหาเรื่องการขอให้ศาลขยายคำพิพากษาเดิม ไม่ใช่การตีความ สิ่งที่ประเทศไทยควรจะพูดให้ชัดคือกัมพูชามีปัญหาที่จะให้ตีความแผนที่ฉบับนี้ หลังจากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2551

            สำหรับประการที่ 4. บันทึกเอ็มโอยูเมื่อปี 2543 มีประโยชน์มาก ในเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทย กัมพูชายังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งการจัดทำเขตแดนดังกล่าวต้องเป็นไปตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ที่ยึดตามแนวสันปันน้ำ เมื่อปี ค.ศ.1904 และ 1907 ซึ่งนี่คือหลักฐานที่สำคัญ ที่จะทำให้เราใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของไทยในอนาคต และมีหลายครั้งที่ทนายของฝ่ายกัมพูชายอมรับว่า การจัดทำเขตแดนนั้นเป็นไปตามแนวสันปันน้ำ ซึ่งถือเป็นการยอมรับครั้งแรกของกัมพูชาว่า เขตแดนของไทยเป็นไปตามแนวสันปันน้ำ

            นายชวนนท์ กล่าวปิดท้ายว่า ส่วนข้อ 5. ตนขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดิน ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่ตนอยากจะพูดไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่อยากจะถามถึงท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นอย่างไร ซึ่งจุดยืนของนายกฯ และรัฐบาลไทยจะเป็นประโยชน์ และแนวทางสำหรับการต่อสู้คดีของทีมทนายไทย ถ้านายกฯ ตอบคำถามโดยบอกว่า จะคัดค้านกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง ผมก็จะชื่นชม แต่ถ้านายกฯ ไม่คัดค้าน ก็ขอให้ทบทวนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของไทยในการต่อสู้คดีหรือไม่

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปชป. จวก กัมพูชา แถลงเท็จต่อศาลโลก แนะรัฐตอบโต้อย่างรอบคอบ โพสต์เมื่อ 17 เมษายน 2556 เวลา 11:53:39
TOP