x close

ย้อนปมปัญหาเขาพระวิหาร คำอธิบายง่าย ๆ ฉบับ หมออั้ม อิราวัต


ย้อนปมปัญหาเขาพระวิหาร คำอธิบายง่าย ๆ ฉบับ หมออั้ม อิราวัต


เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ

            ประเด็นร้อนที่คนไทยติดตามมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นการที่ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก เพื่อยุติข้อพิพาทในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งประเทศไทย และกัมพูชา ถือแผนที่กันคนละฉบับ นำมาซึ่งความขัดแย้งเรื่องเขตแดนที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่อดีต แต่สถานการณ์ได้เริ่มทวีรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่า พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นของตัวเอง

            อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนไทยหลายคนที่ติดตามข่าวนี้ก็ยังคงไม่ค่อยเข้าใจกับความเป็นมาของเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว อีกทั้งยังมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องในเชิงการเมือง ประวัติศาสตร์ ที่ยากต่อการเข้าใจ แม้แต่นักวิชาการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงหลาย ๆ คน ยังให้สัมภาษณ์ออกมาในมุมมองที่ต่างกัน นั่นจึงทำให้คนธรรมดาอย่างเรา ๆ เมื่อได้ติดตามคดีนี้จึงเกิดความสงสัยในหลาย ๆ เรื่อง และก็คงอยากรู้ว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ปัญหาเกิดขึ้นจากตรงไหน

            ลองมาไล่เรียงเหตุการณ์ความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้น จากคำอธิบายง่าย ๆ ในมุมมองของ หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ ที่รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ผู้ที่สนใจคดีนี้เข้าใจได้มากขึ้น 


ปี 2447-2451

            "ฝรั่งเศส" มีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขา "กัมพูชา" ได้เกิด "สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122" (พรมแดนที่เป็นปัญหา ให้ถือเอา "สันปันน้ำ" เป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น...)

            โดยฝรั่งเศส ได้เขียน "แผนที่" ขึ้นมา ในปี 2450 (เป็นปัญหามาจนปัจจุบัน) แต่....ไม่ได้รับการทักท้วงจาก "รัฐบาลไทย" ในเวลาอันควร (เกินกว่า 50 ปี) ซ้ำยังแสดงความขอบคุณ ชื่นชม "ฝรั่งเศส" ด้วยซ้ำ.. (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)


ปี 2493

            "กัมพูชา" ประกาศเอกราช โดยมี "ประเทศไทย" เป็นผู้รับรองลงนามให้เป็นประเทศแรก จากนั้น "กัมพูชา" เริ่มสนใจในเขตแดน และทรัพยากรของตน


ปี 2501

            เริ่มมีข้อพิพาท "การอ้างสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหาร" ระหว่าง ไทย-กัมพูชา


ปี 2502

            เรื่องเข้าสู่ "ศาลโลก" ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ และศาลฯ ได้รับเรื่องพิจารณาคดี


ปี 2505

            "ศาลโลก" ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตัดสิน ให้ไทย ตัด "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของ "กัมพูชา" โดยมติ "ไม่เอกฉันท์" 9:3 เสียง ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึง "พื้นที่ทับซ้อน" และยังไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการ


ปี 2540

            พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และกัมพูชา ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนสำหรับเขตแดนทางบก (Joint Statement on the Establishment of the Thai - Cambodian Joint Commission on the Demarcation for Land Boundary)


ปี 2542

            มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 (30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2542) จากนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ขึ้น


ปี 2543

            14 มิถุนายน 2543 ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ของทั้งสองฝ่าย คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวาร์ กิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดน ได้ลงนามใน...."MOU 2543"


ปี 2549

            "กัมพูชา" ยื่นขอขึ้นทะเบียน "ปราสาท" เป็นมรดกโลก (ฝ่ายเดียว) ครั้งแรก และจะเนียน..จดรวบพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. โดยอ้างว่า "ไม่ทราบว่ามี" (คือจะเหมาไปหมด ว่างั้น....) เรื่องราวต่อเนื่อง ยืดเยื้อมาถึงปี 2551


ปี 2551

            "รัฐบาลไทย" นำโดย นายกรัฐมนตรี "นายสมัคร สุนทรเวช" และ รมว.ต่างประเทศ คือ "นายนพดล ปัทมะ" ได้ยื่น "แถลงการณ์ร่วม 2551" โดยมี ใจความสำคัญในแถลงการณ์ เพื่อ "คัดค้าน" กัมพูชา 2 ข้อสำคัญ

            1. เป็นการบังคับให้กัมพูชา "ตัดพื้นที่ทับซ้อนออก" ไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก
            2. เป็นหลักฐานให้เห็นว่ากัมพูชายอมรับว่า "มีพื้นที่ทับซ้อน" ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยยอมรับเลย ว่ามีพื้นที่ทับซ้อนมาก่อน

            โดย "รัฐบาลสมัคร" ขอให้ทางกัมพูชา ยื่นขึ้นทะเบียนเฉพาะ "ตัวปราสาท" ให้ "ระงับการยื่นจดพื้นที่ทับซ้อน" ไว้ก่อน เพื่อนำเข้าสู่การเจรจาเพื่อความสงบเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย และ "สันติภาพ" ต่อไป

            เหตุการณ์ ปี 2551 หลังจาก "แถลงการณ์ร่วม" ของไทยครั้งนั้น ทำให้ "กัมพูชา" ไม่สามารถยื่นขึ้นทะเบียนมรดกโลก แบบ "เหมาหมด" ได้ จนนำมาสู่การตัดสินคดีความ อันเป็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน คือ ในเดือนเมษายน ปี 2556 นี้...

ติดตามกันอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุผล และความเป็นจริง
สิ่งสำคัญที่สุด คือ "วิถีชีวิต" ของประชาชนพื้นถิ่นและ "ชีวิต" ของคนด้วยกัน

------------------
หมออั้ม อิราวัต
๑๘ เมษายน ๒๕๕๖




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนปมปัญหาเขาพระวิหาร คำอธิบายง่าย ๆ ฉบับ หมออั้ม อิราวัต อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2556 เวลา 15:14:21 2,728 อ่าน
TOP