x close

เสื้อแดงเซ็ง! DSI ไม่ถอนฟ้อง พ้นคดีก่อการร้าย โยน อสส. ตัดสิน


เสื้อแดงชุมนุม

เหวง หน้าแหก ดีเอสไอ แหยง เลิกก่อการร้าย (ไทยโพสต์)

          นพ.เหวง แห้ว ดีเอสไอ เมินรับเผือกร้อนถอนคดีก่อการร้าย โยน ประชา-อัยการสูงสุดตัดสิน พร้อมสอนกฎหมายมีแต่ฟ้องเพิ่มโทษ โฆษกอัยการรับ 30 ปีที่ทำงานไม่เคยเจอ เพราะก่อนเรื่องถึงศาลหลักฐานต้องมัดแน่นแล้ว ขณะที่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แนะต้องทำก่อนศาลพิพากษา

          เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสำนวนถอนฟ้องแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคดีก่อการร้ายตามที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ร้องขอความเป็นธรรม ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งให้บริษัทประกันชดใช้ค่าเสียหายในเหตุการณ์การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 2553 เพราะไม่ใช่การก่อการร้าย
   
          โดย พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวว่า มติคณะกรรมการเห็นควรรายงานผลการพิจารณาต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และขอให้ รมว.ยุติธรรมส่งคำร้องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งดีเอสไอไม่ควรเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ แต่อย่างใด เนื่องจากคดีนี้ถือเป็นอำนาจของอัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่อาจก้าวล่วงได้ ส่วน อสส. จะพิจารณาหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นสมควร

          "ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้อง และอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และได้เริ่มกระบวนการพิจารณาไปแล้ว มีการไต่สวนพยานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปาก ดังนั้นคดีนี้ไม่ใช่ว่าอัยการจะทำความเห็นถอนฟ้องได้เอง หากจะเสนอให้ถอนฟ้องอาจต้องเสนอให้ศาลไต่สวน เพราะถือว่าเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี อัยการไม่สามารถพิจารณาคดีได้ตามลำพัง" พ.ต.อ.ญาณพล ระบุ

          รองอธิบดีดีเอสไอยังกล่าวถึงข้ออ้าง นพ.เหวง ที่ว่ามีการถอนฟ้องกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเทียบเคียงว่า ไม่สามารถนำคดีแพ่ง และอาญามาเทียบเคียงกันได้ และที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฏ ที่จะให้พนักงานสอบสวนถอนฟ้องในคดีที่อัยการสั่งฟ้อง กฎหมายกำหนดว่า หากมีหลักฐานใหม่ซึ่งน่าเชื่อว่าจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้หนักขึ้นและมากขึ้นก็อนุญาตให้ยื่นเพิ่ม แต่ไม่เคยมีปรากฏว่าให้มีหลักฐานอื่นที่จะทำให้ศาลลงโทษน้อยลง

          ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษก อสส. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดคำร้อง รวมทั้งเหตุผลเสนอให้ถอนฟ้องคดี แต่หากสุดท้าย รมว.ยุติธรรมพิจารณาแล้วจะส่งเรื่องให้ อสส.พิจารณาดำเนินการต่อไป ก็จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาคำร้องขอและเหตุผล ซึ่งในฐานะที่รับผิดชอบดูแลสำนวนคดีดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาเหตุผลและอำนาจตามกฎหมายที่ต้องใช้เวลาพอสมควร  ไม่ใช่ยื่นเรื่องมาแล้วจะดำเนินการในทันที

          "ในฐานะของอัยการที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  เนื่องจากเวลาฟ้องคดีก็ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวน รวมทั้งพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกล่าวหาจำเลยแล้วว่าเข้าข่ายกระทำผิด ดังนั้น หากจะให้ถอนฟ้องก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีพยานหลักฐานใหม่อื่นใดมาหักล้าง หรือแสดงให้เห็นว่าการดำเนินคดีที่ได้ทำไปแล้วนั้นเกิดข้อผิดพลาด หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างใดกับใคร" นายวินัย กล่าว
 

          เมื่อถามว่า การพิจารณาถอนฟ้องคดีต้องให้ อสส. พิจารณาชี้ขาดเหมือนการดำเนินคดีตามกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ และในอดีตเคยมีการถอนฟ้องคดีก่อการร้ายมาก่อนหรือไม่ นายวินัย ตอบว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดขนาดนั้น แต่ทางปฏิบัติเมื่อ อสส. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ก็ต้องเสนอเรื่องให้พิจารณา ขณะที่ส่วนตัวในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการมากว่า 30 ปี ยังไม่เคยถอนฟ้องคดีอะไร รวมทั้งคดีก่อการร้ายก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีการดำเนินการใด ๆ แต่ก็มีตัวอย่างคดีชาวบ้านบุกรุกที่ดินที่เคยถอนฟ้องไป เพราะเห็นว่าการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป 

          "หากเกิดพิจารณาถอนฟ้อง หากทำไปแล้วจะทำให้ทุกฝ่ายไม่เกิดความขัดแย้งอีก เเล้วทุกฝ่ายพร้อมจะดำเนินการหรือไม่" นายวินัย ย้อนถาม เมื่อซักว่าหากเป็นนโยบายรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง โดยให้ถอนฟ้องทั้งหมด

          ส่วนนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงข้อกฎหมายในการถอนฟ้องคดีว่า ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ระบุไว้ว่า การถอนฟ้องจะยื่นเวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา และศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลเห็นสมควร และถ้าคำร้องถอนฟ้องนั้นได้ยื่นหลังจากจำเลยต่อสู้คดีแล้ว ต้องให้ถามจำเลยด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเพียงแต่กำหนดกรอบวิธีดำเนินการไว้ ส่วนหลักการและเหตุผลขอถอนฟ้องเป็นเรื่องของโจทก์จะพิจารณาตามกฎหมาย หรือระเบียบภายในของหน่วยราชการนั้นเอง ส่วนเหตุนั้นก็คงต้องสมเหตุสมผลตอบสังคมได้ รวมทั้งไม่ขัดต่อความยุติธรรม ทำให้ฝ่ายใดต้องเสียหาย

          "ในอดีตก็มีบ้าง ที่อัยการเคยยื่นฟ้องคดีอาญาแล้วถอนฟ้อง เช่น คดีบุกรุกที่ดิน หรือคดีของวัดธรรมกาย ซึ่งหากการยื่นคำร้องดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ขัดกฎหมาย ก็เกือบ 100% ที่จะศาลพิจารณาอนุญาตให้ถอนฟ้อง แต่ในส่วนของคดีก่อการร้ายยังไม่เคยพิจารณา และต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเท่านั้น หากคดีมีคำตัดสินแล้วไม่สามารถดำเนินการขอถอนฟ้องได้ แม้จะอ้างถึงนโยบายรัฐบาล" นายทวี กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสื้อแดงเซ็ง! DSI ไม่ถอนฟ้อง พ้นคดีก่อการร้าย โยน อสส. ตัดสิน โพสต์เมื่อ 4 พฤษภาคม 2556 เวลา 13:29:16 1,074 อ่าน
TOP