x close

ดร.เสรี แนะทำอย่างไร ให้คนเลิกด่านายกฯ


ดร.เสรี วงษ์มณฑา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ดร.เสรี วงษ์มณฑา

            ดร.เสรี โพสต์เฟซบุ๊กแนะ ไอซีที ให้ใช้ 10 วิธีตามหลักวิชาการ หลักศีลธรรม หลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ป้องกันคนด่านายกฯ แทนการควบคุมข้อความอันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือหยาบคาย ทางโลกออนไลน์

            วันนี้ (6 พฤษภาคม) ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนได้โพสต์ข้อความแนะนำ นายอนุดิษฐ์ นาครทรรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถึงกรณีที่ ไอซีที สั่งควบคุมข้อความอันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือหยาบคาย ที่ใช้แสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ โดยมีข้อความว่า

            "เพื่อให้เกียรติรัฐมนตรี ICT และกฎหมายที่เขาอ้างถึง ต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร เราจะไม่ได้เจาะจงหมายถึงใคร แต่เราจะพูดตามหลักวิชาการ หลักศีลธรรม หลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ใครทำผิดจากหลักนี้ก็น่าจะเป็นคนทำผิดหลักการแห่งความถูกต้องและความดี ยกตัวอย่างหลักการที่คนที่คิดเป็นหรือเรียนมานานจะรู้ได้

            1. การเป็นตัวแทนของประเทศ องค์กร สถาบันหรือหน่วยงานใด ต้องมองว่าตัวเองเป็นเหมือนทูตที่จะต้องเผยแพร่ความดีของประเทศ องค์กร สถาบันหรือหน่วยงานที่ตนเองเป็นผู้แทน จึงจะถือได้ว่ามีสำเหนียกของการเป็น Brand ambassador

            2. การพูดอะไรก็ตาม ต้องไม่นำเอาความจริงบางส่วนออกจากบริบทจนทำให้สาระแห่งความจริงเปลี่ยนแปลง เพราะการจงใจนำเอาข้อความออกจากบริบทจนทำให้สาระเปลี่ยนแปลง ถึงจะพูดความจริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด

            3. การนำเสนออะไรในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ความคิดเห็นนั้น เขาจะไม่เอาสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ไปเล่าเหมือนประหนึ่งว่ามีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง ถ้าหากอยากจะคาดการณ์เป็นความคิดเห็นของตนเองต้องพูดให้ชัดว่าสิ่งที่พูดเป็น Personal point of view คือความคิดเห็นส่วนตัว

            4. หลักการว่าด้วยทฤษฎีการสื่อสาร บอกว่าเสรีภาพของสื่อจะขึ้นอยู่กับปัจจัย ต่อไปนี้

                 4.1 รัฐบาลที่มีที่มาอย่างโปร่งใส ทำอะไรอย่างโปร่งใสจะให้เสรีภาพแก่สื่อ รัฐบาลที่ทำอะไรไม่โปร่งใส มีวาระซ่อนเร้นจะจำกัดเสรีภาพสื่อ

                 4.2 รัฐบาลที่วางใจได้ว่าประชาชนจะไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านตน จะให้เสรีภาพสื่อ รัฐบาลที่มีความระแวงประชาขน จะจำกัดเสรีภาพสื่อ

                 4.3 รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนจะให้เสรีภาพสื่อ รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับประชาชนจะจำกัดเสรีภาพสื่อ

            5. ทฤษฎีสื่อสารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จสื่อมวลชนจะต้องทำหนาที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล สนับสนุนนโยบายและโครงการของรัฐบาล โดยที่รัฐบาลจะควบคุม ครอบงำการทำงานของสื่อไม่ให้มีการนำเสนอข่าวสารเรื่องราวที่ขัดแย้งกับแนวทางการทำงานของรัฐบาล

            6. เมื่อเราเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย เราต้องรักแผ่นดิน และมีความกตัญญูรู้คุณบรรพชนที่สร้างบ้านแปงเมืองให้เราได้พักพิง อย่าทำร้ายแผ่นดิน ต้องปกป้องแผ่นดินด้วยสำนึกว่าเราเป็นหนี้แผ่นดิน หากพบเห็นใครผู้ใดมีการกระทำที่ส่งผลร้ายต่อแผ่นดิน เราต้องไม่นิ่งเฉย จะต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบาทและความสามารถที่มี ในการจะกำจัดคนชั่วที่ทำร้ายแผ่นดิน

            7. อย่าเห็นประโยชน์ส่วนตนจนลืมมองประเทศชาติ หากใครเอาผลประโยชน์ที่จับต้องได้มาให้เรา ควรพิจารณาด้วยว่าคนที่เขาเอาประโยชน์มาให้เรานั้น เขาเป็นคนดีหรือไม่ มีศีลธรรม มีจริยธรรมหรือไม่ อย่าลุ่มหลงยินดีปรีดากับผลประโยชน์ที่เขาหยิบยื่นให้แล้วรักหลงคนที่ให้ประโยชน์โดยไม่สนใจว่าเขาดีหรือเลว และเขากำลังทำร้ายแผ่นดินเกิด แผ่นดินที่เราพักพิง แผ่นดินที่เราทำกินอย่างไร

            8. สำนึกประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีสำนึกรักชาติ และสำนึกบุญคุณบูรพกษัตริย์และบรรพชน หากคนเราไม่มีสำนึกประวัติศาสตร์ก็เหมือนต้นไม้ไร้ราก ยากที่แข็งแรงมั่นคง และเราจะกลายเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้บุญคุณบรรพชนที่สร้างชาติไว้ให้พวกเรา ไม่ภูมิใจในความเป็นชาติ ไม่เห็นความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เป็นเสาหลักสร้างความมั่นคงของชาติให้ดำรงมาถึงยุคสมัยของเรา

            9. การจะแสดงทัศนะอะไร จะมีพฤติกรรมอะไร ควรใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐานในการพิจารณากำหนดทัศนะและพฤติกรรมของตนเอง ถ้าหากเจอคนที่คิดต่างจากเราเป็นจำนวนมาก น่าจะสะกิดใจถามตัวเองว่าทำไมเราจึงดูเหมือนจะเป็นคน "แปลกแยก" แล้วน่าจะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทบทวนความคิด ความเชื่อ ความรู้ และความคิดเห็นของตนเอง อย่ายึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้สึกในความแปลกแยก

            10. หากคิดอยากจะประกาศเป็นเมืองแห่งปัญญา เพิ่มเติมองคาพยพแห่งความรู้ให้เติบโตกว้างขวาง ต้องยึดหลัก "แตกต่างไม่แตกแยก แต่เติมเต็ม" ถกกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ประเมินกัน ไม่ใช้วาจาหยาบคายด่าทอกัน ไม่เห็นด้วยประเด็นไหน แย้งเป็นประเด็นๆไป เอาจ้อเท็จจริง เหตุผล สถิติตัวเลข หลักวิชาการ หลักศีลธรรม หลักจริยธรรม มาสนับสนุนข้อโต้แย้ง (อย่างสุภาพ) ของตน

            ถ้าหากเราทำกันอย่างนี้ได้ การทะเลาะกัน ด่าทอกัน ใช้คุณศัพท์เชิงลบประณามกัน เอาชื่อสัตว์มาเรียกกัน ก็น่าจะหายไปจากประเทศไทย พวกเราก็จะได้ประเทืองปัญญาซึ่งกันและกัน มีทัศนะที่ถูกต้อง มีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีการแสดงออกที่ดี มีการตัดสินใจที่จะนำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างปราศจากความขัดแย้ง รู้จักใช้เหตุะผล ข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์และอคติในการเลือกผู้นำ และรู้จักใช้สิทธิ์อย่างเหมาะสมภายใต้กรอบของกฎหมายเรียกร้องให้ผู้นำบริหารประเทศเพื่อประเทศชาติและประชาชนตามหลักแห่งธรรมาภิบาล"




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.เสรี แนะทำอย่างไร ให้คนเลิกด่านายกฯ โพสต์เมื่อ 6 พฤษภาคม 2556 เวลา 14:16:17 1,423 อ่าน
TOP