x close

เปิด 3 จุดเสี่ยง นักเรียนตีกัน ตร. แนะ 5 ข้อ ระวังตัวบนรถเมล์





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดย คุณ Lakornhd Thaitv สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            ผบ.ตร. สั่งคุมเข้มกรณีนักเรียนตีกัน โดยพบ 3 จุด เสี่ยง ที่มีสถิติการทะเลาะวิวาทสูงสุด ในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ พร้อมแนะประชาชนระวังตัวหากต้องนั่งรถเมล์
   
            เมื่อวานนี้ (14 พฤษภาคม 2556)  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. กล่าวถึงมาตรการดูแลนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทว่า เรื่องนี้ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. มีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งรวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่เกิดเหตุเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทกันบ่อย ๆ ซึ่งมีหลายจุด เช่น

            1. พื้นที่ทิศเหนือ คันนายาว ดอนเมือง เชื่อมต่อลำลูกกา จ.ปทุมธานี

            2. ทิศใต้ มีนบุรี บางนา เชื่อมต่อสำโรง บางพลี จ.สมุทรปราการ

            3. พื้นที่บางแค ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

            ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บข้อมูล 10 กว่าสถาบันที่เกิดเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทบ่อย พร้อมกับตั้งนายตำรวจประสานงานกับสถาบันเหล่านั้นโดยตรง ส่วนสายรถเมล์ที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทบ่อย ได้แก่ รถเมล์ร้อนสาย 2, 8, 33, 39, 90 โดยช่วงที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์ประปราย โดยมีสถิติการทะเลาะวิวาทสูงสุด ในช่วงเดือนแรกของการเทอมตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่นักเรียนนักศึกษาได้รู้จักเพื่อนใหม่และร้อนวิชา จึงต้องการแสดงกำลัง แต่การทะเลาะวิวาทจะลดลงในช่วงปิดเทอมเดือนกันยายน-ตุลาคม

            พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ทาง ตร. ขอเสนอข้อแนะนำประชาชนในการใช้บริการรถเมล์ที่เสี่ยงจะเกิดเหตุนักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาท ดังนี้

            1. หลีกเลี่ยงการนั่งบริเวณประตูด้านหลัง เพราะส่วนใหญ่พบว่า การก่อเหตุของนักเรียนจะอยู่ที่บริเวณที่นั่งด้านหลังของรถเมล์

            2. ไม่ควรนั่งบริเวณข้างหน้าต่างด้านซ้ายของรถเมล์ เนื่องจากระหว่างเกิดเหตุ มักจะมีการขว้างปาสิ่งของเข้ามาอยู่เป็นประจำ

            3. ขอแนะนำให้มีการระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรใส่หูฟังระหว่างนั่งรถเมล์ เพราะจะทำให้ไม่มีสมาธิสังเกตสถานการณ์รอบข้าง

            4. ระหว่างใช้บริการรถเมล์ ขอให้สังเกตกลุ่มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุทะเลาะวิวาท และหากไม่มีธุระเร่งด่วน ขอแนะนำให้ลงจากรถเมล์คันดังกล่าว เพื่อรอไปขึ้นรถเมล์คันต่อไป หรือเปลี่ยนไปใช้สถานีขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น อย่างรถไฟฟ้า

            5. ขณะเกิดเหตุขอแนะนำให้ประชาชนโน้มตัวลงต่ำกว่าหน้าต่างรถเมล์

3 จุดเสี่ยง นักเรียนตีกัน ตร. แนะ 5 ข้อ ระวังตัวบนรถเมล์

            นอกจากนี้ทาง ตร. ได้ประสานไปยัง กทม. เพื่อติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงที่เกิดเหตุทะเลาะบ่อย เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน พร้อมประสานไปยัง รปภ. ของห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ หน้าตลาดต่าง ๆ ให้จับตากลุ่มเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทให้แจ้งเตือนทันที พร้อมทั้งช่วยวางระบบการแจ้งเหตุ รวมถึงจะมีการประสานให้สารวัตรนักเรียนขึ้นรถเมล์ที่มีสถิติสุ่มเสี่ยงที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทบ่อย โดยเราได้วางระบบมาตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมประมาณ 2 เดือน

            พล.ต.ต.ปิยะ เผยอีกว่า ผบ.ตร. ได้สั่งกำชับผู้บังคับบัญชาในทุกท้องที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาท ดังนี้

            1. ให้ ผบก.น., ผบก.ภ.จว. มอบหมายรอง ผบก. ทุกนายรับผิดชอบสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามที่ ตร. สั่งการ พิจารณาจัดกำลังจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) หรือหน่วยปฏิบัติการสนับสนุนตามความเหมาะสม

            2. ให้ ผบช.น., ผบช.ภ.1, ผบช.ภ.7 มอบหมายรอง ผบช. ทุกนาย รับผิดชอบสถานศึกษาทุกแห่งใน บก.น., บก.ภ.จว. ในพื้นที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่ออำนวยการกำกับดูแลให้คำแนะนำ และตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามสั่งการ ตร. โดยเคร่งครัด

            3. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ จัดทำฐานข้อมูลบุคคล สถานที่ นักศึกษาที่เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ไว้เป็นหลักฐาน และรายงานผลการดำเนินการให้ บก.น., บก.ภ.จว. ทราบ เพื่อสรุปในภาพรวมรายงาน บช.น., บช.ภ.จว.

            4. ให้โฆษก บช., ภ.จว. ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง           

            นอกจากนี้ ตร. ได้กำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติของหน่วยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้

            1. ให้จเรตำรวจตรวจสอบเอกสารหลักฐานข้อมูลทุกครั้งที่ไปตรวจราชการ และรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ

            2. ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. สายงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ควบคุม กำกับ ดูแลอย่างจริงจัง

            3. หากพบข้อบกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ ในการดำเนินการตามมาตรการแนวทางที่กำหนดจนเกิดความเสียหาย ตร. จะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบตามสมควรแก่กรณี

 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด 3 จุดเสี่ยง นักเรียนตีกัน ตร. แนะ 5 ข้อ ระวังตัวบนรถเมล์ โพสต์เมื่อ 15 พฤษภาคม 2556 เวลา 08:13:18 3,708 อ่าน
TOP