
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
กรมศุลฯ ยอมรับเอกชนส่งข้อมูลมาผิด ทำให้ตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนคลาดเคลื่อน จากเดิมประกาศว่าเพิ่มขึ้น 10.52% ต้องเหลือเพียง 2.89% ด้าน รมว.คลัง ชี้ ศุลกากรมั่วตัวเลข ไม่ถึงขั้นเสียหาย ไม่สะเทือนภาพรวมเศรษฐกิจ
จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนว่ามีมูลค่า 18,698.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.52 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 กรมศุลกากรได้ออกมาแก้ไขตัวเลขดังกล่าวแล้ว
โดย นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลใหม่พบว่าตัวเลขส่งออกในเดือนเมษายนนั้น แท้จริงขยายตัวเพียงร้อยละ 2.89 ซึ่งสาเหตุที่มีการประกาศตัวเลขผิดพลาดไปนั้น เป็นเพราะตัวเลขส่งออกไปยังฮ่องกงคลาดเคลื่อน เนื่องจากบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ทำธุกริจประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งข้อมูลผิดมาให้กรมศุลกากร ทำให้จากตัวเลขจริง ๆ ที่ 12,803 เหรียญสหรัฐ กลายเป็น 1,289 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ นางเบญจา ได้ย้ำด้วยว่า ต่อไปทางกรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลให้เข้มงวดมากขึ้น พร้อมกับปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้แจ้งเตือนหากมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเกิน 1020% เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลแต่เนิ่น ๆ
ด้าน นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งเรื่องนี้จากกรมศุลกากรแล้ว ทำให้สรุปได้ว่า ตัวเลขการส่งออกรวมประจำเดือนเมษายน 2556 ที่ถูกต้องคือ 17,409.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพียงร้อยละ 2.89 และหากคิดเป็นรูปเงินบาท จะมียอดการส่งออกเป็น 506,210.9 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ1.89
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า กรณีกรมศุลกากรรายงานตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนผิดพลาด เชื่อว่าจะไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ซึ่งก็ดีเมื่อมีการผิดพลาดก็มีการแก้ไข ไม่ถูกต้องก็ไม่ได้ซุกซ่อนปิดบังอะไร ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม ตัวเลขจริงสูง แต่เมื่อเฉลยออกมาต่ำก็อาจยุ่งไปกันใหญ่ เพราะกลายเป็นว่าบางฝ่ายก็อาจมองได้ว่าเป็นการไปชงตัวเลขกดดันเพื่อให้ลดดอกเบี้ย แต่ภาวะแบบนี้ไม่ทำให้ใครเคลือบแคลงใจว่าความผิดพลาดเป็นไปด้วยวัตถุประสงค์อื่นใด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


