x close

รัฐเปิดผลผู้ชนะประมูลแผนจัดการน้ำ กลุ่ม ITD คว้า 5 โมดูล


ประมูลแผนจัดการน้ำ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

          รัฐบาลเปิดผลบริษัทผู้ชนะการประมูลโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท กลุ่ม  ITD ชนะ 5 โมดูล กลุ่มเค-วอเตอร์ ได้ 2 โมดูล ขณะที่ กิจการร่วมค้าซิมมิท และล็อกซเล่ย์ ได้อย่างละ 1 โมดูล รอต่อรองราคา

          เมื่อช่วงสายของวันที่ 10 มิถุนายน 2556 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงผลการเปิดซองคะแนนทางเทคนิคของบริษัทที่เข้ายื่นประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท โดยก่อนจะประกาศผล มีการแถลงชี้แจงหลักการและเหตุผลที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวน 350,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย พร้อมกับรองรับสถานการณ์ภัยธรรมชาติในอนาคต

          ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ระบุว่า จากมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประมาณความเสียหาย 1.44 ล้านล้านบาท ปัญหาดังกล่าวนั้นถือว่ากระทบกับความมั่นคง รัฐบาลจึงของบประมาณในจำนวนดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยจะเน้นไปที่โครงการระบายน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้การเสนอโครงการ การคัดเลือกบริษัท และทุกขั้นตอนการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส

          จากนั้น นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย หรือ โครงการน้ำตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท ได้กล่าวถึงเกณฑ์การให้คะแนนต่าง ๆ โดยจะคัดเลือกบริษัทที่ได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 80 ผ่านเข้าไปในรอบเปิดซองราคา เพื่อต่อรองราคาต่อไป

          กระทั่งถึงเวลาประกาศผล ปรากฏว่า บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์) ได้คะแนนสูงสุดจำนวน 2 โมดูล คือ

          โมดูล A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว

          โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดประมาณ 1500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับการคมนาคม

          ขณะที่กลุ่ม ITD POWER CHINA JV (อิตาเลียนไทย) ได้คะแนนสูงสุดถึง 5 โมดูล ประกอบด้วย

          โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1.3 ล้าน ลบ.ม.

          โมดูล A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน / การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          โมดูล A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา

          โมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท

          โมดูล B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ

          ส่วนอีก 2 โมดูลที่เหลือ คือ โมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ขณะที่ กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ ได้โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 4 พันล้านบาท


โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท


จับตา! กบอ. เปิดซองผู้ชนะประมูลจัดการน้ำ ช่อง 11 ถ่ายทอดสด

            กบอ. เตรียมเปิดซองผู้ชนะการประมูลโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท วันนี้ (10 มิถุนายน) 4 บริษัทชิงเค้กลุ้นตัวโก่ง ถ่ายทอดสดทางช่อง 11

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (10 มิถุนายน 2556) เวลา 09.00 น. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมเปิดซองราคาของบริษัทเอกชนที่ได้รับการพิจารณาในรอบของการเปิดซองด้านเทคนิคโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท โดยจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประกาศผลทางสถานีโทรทัศน์ NBT ด้วย

            ทั้งนี้ ก่อนการแถลงผลผู้ชนะ ทางสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จะทำการยกตู้เซฟที่บรรจุซองราคาของบริษัทเอกชนที่ยื่นไว้ ออกมาจากห้องทำงานของ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการเลขาธิการ สบอช. ที่ตึกแดง 1 มายังตึกสันติไมตรีหลังใน เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบ ก่อนที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะได้แถลงประกาศผลบริษัทที่จะได้รับการเปิดซองราคาต่อไป

            จากนั้น เมื่อเปิดซองหาบริษัทที่ชนะในแต่ละโมดูลแล้ว ทาง กบอ. จะเรียกตัวแทนของบริษัทที่ชนะมาต่อรองราคา หากต่อรองราคาไม่ได้ ก็อาจเรียกบริษัทที่ยื่นราคาประมูลเป็นลำดับที่ 2 ขึ้นมาต่อรองราคาแทน ก่อนจะสรุปผลว่ามีบริษัทใดบ้างชนะในแต่ละโมดูล และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556

            สำหรับโครงการดังกล่าว มี 5 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ก่อนที่ "กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์" จะขอถอนตัวไป ทำให้เหลือเพียง 4 กลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมยื่นเสนอซองราคา ได้แก่

            1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์)

            2.ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน

            3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

            4.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ โดยกลุ่มเค-วอเตอร์ และกลุ่มอิตาเลียนไทยฯ


โดยทั้ง 4 กลุ่มบริษัท ได้ยื่นเสนอครบทั้ง 9 โมดูล รวม 10 โครงการ ประกอบด้วย

            โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1.3 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณไม่เกิน 2.6 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี  มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาท ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดประมาณ 1500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับการคมนาคม โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.53 แสนล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 4 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี มี 3 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์), กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย) และกลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์

            โมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            โมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 3 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์), กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย) และกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที

            โมดูล B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 5 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี มี 2 บริษัทยื่นประมูล คือ บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชัน (เค วอเตอร์) และ กลุ่ม ITD-POWERCHINA JV (อิตาเลียนไทย)

            อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแถลงผลดังกล่าวไว้ว่า การถ่ายทอดสดที่จะเกิดขึ้น เปรียบเสมือนรายการทำอาหารรายการหนึ่งที่มีบทพูดเตรียมเอาไว้พร้อมแล้ว สามารถยั่วน้ำลายคนดูได้ แต่กินไม่ได้จริง เพราะเป็นแค่การแสดงที่มีการจัดฉากเอาไว้
   
            พร้อมกันนี้ นายอุเทน ยังยืนยันว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างหนัก และจะมีการสูญเสียทรัพย์ของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็น ดิน หรือการผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำทะเลหนุน และส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้แพ้โครงการจำนำข้าวเลย จึงกำลังศึกษาข้อกฎหมายฉบับต่าง ๆ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ประมาณ 11 ข้อ และจะรอจังหวะที่จะยื่นเรื่องผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่มีอำนาจในการจัดการ หรืออาจจะเดินสายไปตามสื่อมวลชนทุกแขนง ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์นี้ก็ได้



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐเปิดผลผู้ชนะประมูลแผนจัดการน้ำ กลุ่ม ITD คว้า 5 โมดูล โพสต์เมื่อ 10 มิถุนายน 2556 เวลา 11:28:36 4,089 อ่าน
TOP