x close

สรุปผลสอบ ไฟดับภาคใต้ เหตุสุดวิสัย - เล็งเก็บค่าเอฟทีเพิ่ม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          รมว.พลังงาน แถลงผลสอบเหตุไฟฟ้าดับพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด สรุปเป็น 3 ประเด็น ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย พร้อมเล็งผลักภาระซื้อไฟมาเลเซีย 13 ล้านบาท ใส่ในค่าเอฟทีงวดถัดไปที่จะมีการปรับราคาลงอยู่แล้ว

          เมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน 2556) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้

          1. สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน 

          2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 

          3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้อง ทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นจึงเกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 5.2 วินาที


          นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. 

          จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนแล้ว

          ด้านนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ กล่าวว่า กรณีไฟฟ้าดับภาคใต้ กฟผ. ได้ไปซื้อไฟจากมาเลเซียมาเสริมระบบ 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 13 ล้านบาท ซึ่งตามหลักการแล้วเมื่อเป็นเหตุสุดวิสัยคงจะไม่สามารถให้ กฟผ. รับภาระได้ ดังนั้นจะนำมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้แนวโน้มค่าเอฟที งวดหน้า (กันยายน-ตุลาคม 2556) มีแนวโน้มปรับลดลง 4-5 สตางค์ต่อหน่วยอยู่แล้ว ดังนั้นความเสียหายในส่วนนี้จึงแทบจะไม่มีผลต่อค่าไฟ

          อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ศักดิ์ ได้ระบุตอนท้ายด้วยว่า สำหรับมาตรการป้องกันปัญหาในระยะสั้น ให้ กฟผ. ทบทวนและฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการควบคุมระบบไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต รวมทั้งฝึกซ้อมร่วมกับ กฟภ. อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ส่วนมาตรการป้องกันปัญหาในระยะยาว ได้สั่งให้ กฟผ. เร่งจัดทำโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี และ/หรือ 230 เควี จากภาคกลางไปยังจังหวัดภูเก็ตและสงขลา เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความสามารถส่งกำลังไฟฟ้ามากขึ้น



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักข่าวอิศรา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปผลสอบ ไฟดับภาคใต้ เหตุสุดวิสัย - เล็งเก็บค่าเอฟทีเพิ่ม โพสต์เมื่อ 12 มิถุนายน 2556 เวลา 09:00:48 1,030 อ่าน
TOP