x close

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศเจตนารมณ์บริหารประเทศ ชูปราบทุจริต


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ยิ่งลักษณ์ รายวัน โดย ดร.ดำเนิน

          ยิ่งลักษณ์ นำทีม ครม. แถลงประกาศเจตนารมณ์บริหารประเทศ ณ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมชูการปราบทุจริตเป็นหน้าที่หลัก หากพบใครทำผิดฟันไม่เลี้ยง

          วันนี้ (2 กรกฎาคม 2556) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีทั้งหมดร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยประเด็นหลักที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ การปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะมีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การตั้งหน่วยงานต่าง ๆ และจะดำเนินกฎหมายโดยไม่ละเว้น หากพบว่าใครกระทำความผิด

สำหรับแถลงการณ์ทั้งหมด มีดังนี้

          พี่น้องประชาชน พี่น้องสื่อมวลชน วันนี้ดิฉันและรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวงและอธิบดี มารวมตัวกันเพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการปฎิบัติหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นภารกิจและหน้าที่อันสำคัญของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ และสำหรับข้าราชการทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำ ด้วยไม่เพียงแต่เป็นนโยบายสำคัญที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะให้การบริหารบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าและสัมฤทธิ์ผล

          รัฐบาลได้ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาโดยตลอด ต้องการเห็นการทำงานที่โปร่งใส เปิดเผย และพร้อมให้ตรวจสอบ (Open Government)

           โปร่งใส เปิดเผย คือ การมีระบบคิดและขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน กำจัดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีความชัดเจน ง่ายต่อการติดตามและตรวจสอบ-พร้อมให้ตรวจสอบ คือ การให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

         
การร่วมคิด ร่วมทำ กับรัฐบาลภายใต้กฏหมายและระเบียบที่มีอยู่

         
การร่วมตรวจสอบ ให้เกิดความมั่นใจ และ เดินหน้าพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน

          จากวันที่รับตำแหน่งเมื่อสองปีที่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็น ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลเป็นสากล โดยได้ดำเนินการ

          เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคม

         
วางระบบและสร้างช่องทางพิเศษในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน ๑๒๐๖ เปิดเว็บไซต์ www.stopcorruption.go.th รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter และ Application ในโทรศัพท์มือถือ ติดตั้งตู้รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตในสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ

         
จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ในทุกระดับ เช่น Anti-Corruption War Room ที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการงานด้านการตรวจสอบ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของกระทรวง

         
ดำเนินโครงการ ๑ กรม ๑ ป้องกันโกง (ส่วนราชการ ๑๔๔ กรม และ ๗๖ จังหวัด) ได้คัดเลือกกระบวนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น มาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดความโปร่งใส

         
แก้กฎ ก.พ. เร่งรัดการลงโทษการทุจริตให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่นสามารถกลับเข้ารับราชการได้อีก

         
แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

          ทั้งนี้ มีหลายกรณีที่รัฐบาลได้ใช้หน่วยงานราชการ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อสอบสวนและตรวจสอบการทุจริตในหลายกรณี เพื่อส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการต่อ ในขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ได้มีการหารือกับ ปปช. เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และจากวันนี้เป็นต้นไป รัฐบาลชุดนี้จะเพิ่มความเข้มข้นและวางขั้นตอนการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นโดยจะพัฒนาไปให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล เช่นที่มีใช้ในประเทศ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ หรือองค์กรระหว่างประเทศอย่าง Transparency International ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดมาตรการเบื้องต้น ดังนี้

          ประการแรก จะส่งเสริมผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม และให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานทุกราย

          ประการที่สอง วางมาตรการให้บุคคลจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการฝึกอบรมความรู้และทักษะที่จำเป็น รวมทั้งได้รับการรับรองอย่างเป็นระบบ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะรวบรวมจัดทำเป็นรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้สังเกตการณ์ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการคัดเลือก คุณสมบัติ บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้สังเกตการณ์ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนแยกตามรายสาขาวิชาชีพ และประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ โดยบุคคลเหล่านี้จะมีบทบาทหน้าที่ในการสอดส่อง สังเกตการณ์ และเสนอแนะในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเชื่อมั่น ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกโครงการที่เข้าข่ายในการเปิดให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น โครงการที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน โครงการที่มีวงเงินงบประมาณสูง หรือโครงการที่สาธารณชนให้ความสนใจ เป็นต้น และในกรณีที่พบว่ามีการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการป้องกันการแทรกแซงด้วย ดังนั้น บุคคลตามรายชื่อดังกล่าวย่อมต้องรับผิดชอบต่อการกระทำการใด ๆ ของตน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางแพ่งและทางอาญา

          ประการที่สาม เพื่อให้มีการดำเนินการที่โปร่งใสตามมาตรการขั้นต้น รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเสริมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีหน้าที่หลัก ๆ ที่นอกจากจะวางหลักเกณฑ์และคัดเลือกผู้สังเกตการณ์แล้ว จะมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บันทึกและติดตามข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ และมีการประสานการทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำกับดูแลติดตามภาพรวมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

          ดิฉันขอยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเน้นที่การกระทำ (Action) เพื่อให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และการดำเนินการต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง มาตรฐานที่วางไว้จะใช้ในโครงการตามงบประมาณที่มีวงเงินสูง โครงการตามนโยบายหลักที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจะเริ่มต้นจากโครงการรถเมล์ เอ็นจีวี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนานคม ดร.ชัชชาติ เป็นเจ้าภาพ และในอนาคตก็จะพัฒนาในโครงการอื่น ๆ ต่อไป เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ดิฉันและรัฐบาลขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร มีอิทธิพลเพียงใด หากทำการทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไม่ละเว้น รัฐบาลมีความตั้งใจจริง แต่คงจะไม่สำเร็จหากปราศจากการร่วมมือของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน รัฐบาลยินดีร่วมมือกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศชาติของเราร่วมกัน สวัสดีค่ะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศเจตนารมณ์บริหารประเทศ ชูปราบทุจริต โพสต์เมื่อ 2 กรกฎาคม 2556 เวลา 17:05:10 1,967 อ่าน
TOP