ธนบัตรชำรุด มีค่า ! ขาด-แหว่ง-ซีด อย่าเพิ่งทิ้ง เปลี่ยนคืนได้


ธนบัตรชำรุด มีค่า อย่าเพิ่งทิ้ง เปลี่ยนคืนได้


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

            หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เมื่อธนบัตรชำรุด ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรขาด, ธนบัตรเก่าจนเปื่อย หรือว่าเปรอะเปื้อน บ้างก็สีซีดจาง เนื่องด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ แมลง มด หนู ปลวก กัดแทะ จะไม่สามารถนำมาใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 18 ระบุไว้ว่า... "ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" โดยได้จำแนกลักษณะของธนบัตรชำรุดไว้ 4 ลักษณะดังนี้


ธนบัตรครึ่งฉบับธนบัตรครึ่งฉบับ
ธนบัตรครึ่งฉบับ

            ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ธนบัตรที่ถูกแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืนเท่านั้น


ธนบัตรต่อท่อนผิด
ธนบัตรต่อท่อนผิด

            ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน

ธนบัตรขาดวิ่น
ธนบัตรขาดวิ่น

            ธนบัตรขาดวิ่น คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป


 ธนบัตรลบเลือน
 ธนบัตรลบเลือน

            ธนบัตรลบเลือน คือ ธนบัตรที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ

            แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มีพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 5 และมาตรา 19 ระบุไว้เช่นกันว่า สามารถแลกเปลี่ยนธนบัตรที่ชำรุดได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ต่อไปนี้...

            ข้อ 1 ผู้ใดประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ให้ทำคำร้องเป็นหนังสือตามแบบยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย โดยแนบธนบัตรชำรุดไปกับคำร้องด้วย

            ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายเห็นสมควรจะรับธนบัตรชำรุดไว้แลกเปลี่ยน โดยมิต้องให้ผู้ประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดทำคำร้องเป็นหนังสือดังกล่าวในวรรคหนึ่งก็ได้
              
            ข้อ 2 ให้รับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดและหลักเกณฑ์  ดังต่อไปนี้
            
            ธนบัตรครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น

            ธนบัตรต่อท่อนผิด ถ้าไม่เกินสองท่อน แต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

            ธนบัตรขาดวิ่น ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อเห็นได้ประจักษ์ว่าส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
         
            ธนบัตรลบเลือน ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อการลบเลือนนั้น ไม่ถึงทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

            ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของธนบัตรชำรุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน สามารถนำธนบัตรชำรุดมาแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการ  ดังนี้

กรณีที่ 1 เขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยน

            ได้แก่ ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ ธนบัตรต่อท่อนผิด และธนบัตรขาดวิ่นที่มีเนื้อน้อยกว่า 3  ใน 5 ส่วน ผู้ขอแลกต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนตามแบบที่กำหนดพร้อมแนบธนบัตรชำรุดยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อนำส่งให้ ธปท. พิจารณาค่าแลกเปลี่ยน โดย ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือส่งทางไปรษณีย์ธนาณัติให้กับผู้ขอแลกตามที่ระบุไว้ในคำร้องขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด

            สำหรับธนบัตรชำรุดที่ถูกไฟไหม้เกรียม ถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะ หรือเปื่อยติดกันเป็นปึกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจได้รับความเสียหายระหว่างจัดส่ง ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อออกหลักฐานการติดต่อก่อนนำมาขอแลกที่สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย


ธนบัตรถูกไฟไหม้เกรียม
ธนบัตรถูกไฟไหม้เกรียม


ถูกปลวกกัดแทะ
ถูกปลวกกัดแทะ


เปื่อยติดกันเป็นปึก
เปื่อยติดกันเป็นปึก


กรณีที่ 2 แลกเปลี่ยนได้ทันที

            ได้แก่ ธนบัตรชำรุดที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกิน 3 ใน 5 ส่วน ผู้ขอแลกสามารถยื่นและรับเงินค่าแลกเปลี่ยนได้เต็มราคาหน้าธนบัตร


สำหรับสถานที่ติดต่อขอแลกธนบัตรชำรุด

ธนาคารออมสินทั่วประเทศ : ให้บริการในเวลาทำการทุกวัน

ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ : ให้บริการเฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า

           สามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับธนบัตรชำรุด ได้ที่ แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02-356-8735 ถึง 8737 หรือที่เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธนบัตรชำรุด มีค่า ! ขาด-แหว่ง-ซีด อย่าเพิ่งทิ้ง เปลี่ยนคืนได้ โพสต์เมื่อ 9 กรกฎาคม 2556 เวลา 15:33:48 21,396 อ่าน
TOP
x close