อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง

          อิเหนา เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นบทละครรำที่พร้อมเพรียงทั้งเนื้อหา ความไพเราะ กระบวนการเล่นละคร และยังสะท้อนถึงประเพณีไทยในอดีต โดยแม้บทละครรำเรื่อง อิเหนา จะมีพื้นเพมาจากชวา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงปรับแก้ให้เข้ากับธรรมเนียมของบ้านเมือง และรสนิยมของคนไทย

อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง

ลักษณะคำประพันธ์ เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


         ลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนบทละคร แต่มีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสี่สุภาพ แต่ละวรรคจะขึ้นด้วยคำว่า เมื่อนั้น บัดนั้น และมาจะกล่าวบทไป

จุดมุ่งหมายของบทละคร เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


         เพื่อใช้ในการแสดงละครใน

เท้าความเรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


        ในดินแดนชวาโบราณ มีกษัตริย์วงศ์หนึ่งที่ชื่อว่า วงศ์สัญแดหวา หรือวงศ์เทวา สืบเชื้อสายมาจากเทวดา ใช้คำนำหน้านามว่า ระเด่น ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้น จะใช้คำนำหน้านามว่า ระตู โดยที่ท้าวปะตาระกาหลา มีโอรส 4 พระองค์ ครองเมือง 4 เมือง ได้แก่ องค์แรกครองเมืองกุเรปัน ชื่อ ท้าวกุเรปัน องค์ที่สองครองเมืองดาหา ชื่อท้าวดาหา องค์ที่สามครองเมืองกาหลัง ชื่อท้าวกาหลัง และองค์ที่สี่ครองเมืองสิงหัดส่าหรี ชื่อท้าวสิงหัดส่าหรี

       ทั้งนี้ กษัตริย์ในวงศ์เทวา จะมีมเหสีได้ถึง 5 พระองค์ และทั้ง 5 พระองค์ จะมีลำดับตำแหน่ง ได้แก่ ประไหมสุหรี  มะเดหวี มะโต ลิกู เหมาหลาหงี และโดยที่ 3 โอรสแห่งวงศ์เทวา ได้ไปสมรสกับธิดา 3 พระองค์ของระตูหมันหยา ได้แก่ 

        นิหลาอระตา ธิดาองค์โต ได้สมรสกับท้าวกุเรปัน และได้ไปเป็นประไหมสุหรีที่เมืองกุเรปัน

        ดาหราวาตี 
ธิดาองค์รอง ได้สมรสกับท้าวดาหา และได้ไปเป็นประไหมสุหรีที่เมืองดาหา

        ระเด่นจินดาส่าหรี พระธิดาองค์สุดท้อง ได้สมรสกับโอรสของท้าวมังกัน ผู้ครองเมืองมังกัน ต่อมาทั้งจินดาส่าหรีและโอรสของท้าวมังกัน ได้มาครองเมืองหมันหยา ทำให้โอรสของท้าวมังกัน มีชื่อเรียกขานเป็น ระตูหมันหยา

        ทั้งนี้ ท้าวกุเรปันมีพระโอรสองค์แรกกับลิกู พระมเหสีองค์ที่ 4 ชื่อว่า กะหรัดตะปาตี มีโอรสองค์ที่ 2 กับประไหมสุหรีนิหลาอระตา คือ อิเหนา หรือระเด่นมนตรี  และมีพระธิดาชื่อ วิยะดา ส่วนท้าวดาหามีธิดาองค์แรกกับประไหมสุหรีดาหราวาตี คือ บุษบา และมีโอรสอีกหนึ่งพระองค์คือ สียะตรา ท้าวทั้งสองพระองค์จึงหมั้นบุษบาไว้กับอิเหนา และหมั้นสียะตราไว้กับวิยะดา
                 
         ด้านระตูหมันหยากับประไหมสุหรีจินดาส่าหรี มีพระธิดาคือ จินตะหราวาตี ขณะที่ท้าวสิงหัดส่าหรีกับประไหมสุหรี ก็มีพระโอรสคือ ระเด่นสุหรานากง และพระธิดาชื่อว่า จินดาส่าหรี ส่วนท้าวกาหลังมีพระธิดาคือ สการะหนึ่งหรัด และเป็นคู่หมั้นของระเด่นสุหรานากง 

         หลังจากที่พระอัยกาเมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ ท้าวกุเรปันจึงสั่งให้อิเหนาเข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพร้อมกับกะหรัดตะปาตี ในระหว่างนั้นเอง อิเหนาได้พบจินตะหราวาตีจึงเกิดหลงรัก และเมื่อเสร็จงานก็ไม่ยอมกลับเมืองกุเรปัน ท้าวกุเรปันจึงอ้างว่า พระมเหสีประไหมสุหรีกำลังจะมีพระประสูติกาล ขอให้อิเหนากลับเมืองด่วน เมื่ออิเหนากลับมาก็เห็นพระราชมารดาให้กำเนิดพระธิดานาม วิยะดา
         
         แต่ถึงกระนั้น อิเหนายังพยายามกลับเมืองหมันหยาอีกครั้ง โดยออกอุบายปลอมเป็นโจรป่าชื่อว่า มิสารปันหยี  ระหว่างทางได้รบกับระตูบุศิหนา เจ้าเมืองบุศิหนา จนระตูบุศิหนาเสียชีวิต นางดรสาอันเป็นมเหสีของระตูบุศิหนา จึงกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี ด้านระตูจะรากันและระตูปักมาหงัน พี่ชายของระตูบุศิหนา ได้ขอยอมแพ้ จึงถวายพระโอรสและธิดาให้กับอิเหนา คือ นางสะการะวาตี  นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาจึงได้ลักลอบพบนางจินตะหราวาตี อีกทั้งยังได้นางสะการะวาตี และนางมาหยารัศมีเป็นชายา พร้อมกับยกย่องให้ สังคามาระตา เป็นน้องชาย
         
         อย่างไรก็ตาม ท้าวกุเรปันได้เรียกอิเหนากลับเมืองอีกครั้ง เพื่อจัดงานอภิเษกของอิเหนาและนางบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาจึงขุ่นเคืองใจกัน และทำให้ท้าวดาหาหลุดปากออกมาว่า หากใครอยากได้นางบุษบาจะยอมยกให้
         
         ด้านจรกา หนุ่มรูปชั่วตัวดำ ซึ่งเป็นระตูเมืองเล็กเมืองหนึ่ง และเป็นพระอนุชาของท้าวล่าส่ำ มีความใฝ่ฝันอยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่างไปแอบวาดภาพนางจินดาส่าหรี ธิดาของเมืองสิงหัดส่าหรี มาให้ดู แต่เมื่อทราบว่านางบุษบาสวยมากจึงสั่งให้ช่างไปวาดภาพนางบุษบาอีก โดยวาดได้ตอนที่นางบุษบาเพิ่งตื่นบรรทมและแต่งองค์เต็มที่ แต่ภาพที่แต่งองค์เต็มที่หายไปขณะอยู่ในป่า แต่เพียงจรกาได้เห็นแค่ภาพของบุษบาตอนตื่นบรรทมก็ถึงกับหลงรักจนถึงขั้นสลบไปเลย และยิ่งทราบว่าบุษบาร้างคู่ตุนาหงัน จึงหมายจะมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหาซึ่งลั่นวาจาไว้แล้วว่า หากใครมาขอบุษบาก็จะยกให้ จึงยอมยกนางบุษบาให้จรกา และให้ทั้งสองคนแต่งงานภายใน 3 เดือน

อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


เรื่องย่อ อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง


          ด้านกษัติร์ย์อีกวงศ์หนึ่งคือ ท้าวกะหมังกุหนิง มีพระโอรสคือ วิหยาสะกำ ครองเมืองปาหยัง และโอรสอีกพระองค์ครองเมืองปะหมันสลัด วันหนึ่งวิหยาสะกำได้เสด็จประพาสป่า ได้เจอรูปนางบุษบาที่หายไป จึงคลั่งไคล้นางบุษบาเป็นอย่างมาก ท้าวกะหมังกุหนิงจึงสืบเรื่องและให้ทูตไปสู่ขอ แต่ท้าวดาหาได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงจึงตั้งใจจะยกทัพมาแย่งชิงนางบุษบาไป โดยให้ระตูปาหยังและระตูปะหมัน พระอนุชา ยกทัพมาช่วย โดยมีวิหยาสะกำเป็นทัพหน้า และพระอนุชาทั้งสองคนเป็นทัพหลัง

         ด้านท้าวดาหาเมื่อทราบความว่าท้าวกะหมังกุหนิงเตรียมยกทัพมาตี จึงได้ขอความช่วยเหลือจากท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปันจึงได้ส่งพระราชสาสน์มาฉบับหนึ่ง เพื่อให้อิเหนายกทัพมาช่วย อีกฉบับส่งให้ระตูหมันหยา พร้อมตำหนิที่นางจินตะหราวาตี ลูกสาวของระตูหมันหยา เป็นต้นเหตุของการเกิดศึกนี้ ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงส่งทัพไปช่วยอิเหนา ด้านท้าวกาหลังก็ให้ตำมะหงงกับดะหมังมาช่วย และท้าวสิงหัดส่าหรีก็ส่งสุหรานากงมาช่วยเช่นกัน จนกระทั่งถึงเมืองดาหา อิเหนาจึงมีบัญชาให้รบกับท้าวกะหมังกุหนิง


         เมื่อทั้งสองฝ่าย ฝ่ายทัพของท้าวดาหาและท้าวกะหมังกุหนิงเผชิญหน้ากัน สังคามาระตาก็ต่อสู้กับวิหยาสะกำ ซึ่งวิหยาสะกำเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกสังคามาระตาสังหาร เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นลูกตายก็โกรธ จึงควบม้าไล่ตามสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดเอาไว้และทั้งสองก็ต่อสู้กัน แต่อิเหนามองว่าท้าวกะหมังกุหนิงเก่งเพลงดาบจึงขอให้ใช้กริชสู้ สุดท้ายอิเหนาใช้กริชสังหารท้าวกะหมังกุหนิง ระตูปะหมันและระตูปาหยังคิดว่าทัพของอิเหนานั้นยิ่งใหญ่เกินจะต้านทาน ไพร่พลจึงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ระตูทั้งสองจึงขอยอมแพ้อิเหนาพร้อมทั้งเข้าเฝ้า และคร่ำครวญว่ากะหมังกุหนิงไม่เคยรบแพ้ใคร แต่เพราะรักลูกมากเกินไปจึงติดประมาท วิหยาสะกำเองก็ตายตั้งแต่อายุยังน้อย แม้จะมีความกล้าหาญมากก็ตาม

ตัวละคร เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


         อิเหนา : เป็นโอรสของท้าวกุเรปันกับประไหมสุหรีนิหลาอระตา มีลักษณะเจ้าชู้ แต่มีความเป็นชายชาติทหารอย่างนักรบ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว

         ท้าวกุเรปัน : เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ มีพระอนุชา 3 พระองค์ ได้แก่ เมืองดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี นิสัยเป็นคนถือยศศักดิ์ รักเกียรติและวงศ์ตระกูล

         ท้าวดาหา : เป็นพระอนุชาขององค์รองของท้าวกุเรปัน เป็นคนรักษาคำพูด มีขัตติยมานะ รอบคอบในการศึก

         นางบุษบา : นางบุษบาเป็นคนที่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ แม้จะไม่พอใจในรูปร่างของจรกา แต่ก็ไม่ปฏิเสธเมื่อพ่อแม่ยกนางบุษบาให้จรกา บุษบาเป็นคนไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง แม้ตนเองจะสูงศักดิ์

         ท้าวกะหมังกุหนิง : เป็นกษัตริย์เมืองกะหมังกุหนิง มีความรักต่อลูก ใจเด็ด แต่ประมาท

         วิหยาสะกำ : เป็นคนเอาแต่ใจ ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ใจเด็ด แต่ด้วยความที่อายุยังน้อย เลยใจร้อน ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

กลวิธีด้านการแต่ง เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


        1. ด้านจินตภาพ ผู้แต่งสามารถบรรยายคำออกมาได้ชัดเจนสมบูรณ์ ทำให้ผู้อ่านคิดภาพตามได้และเกิดอรรถรส

        2. ภาพพจน์ ผู้แต่งใช้การแต่งแบบอุปมา โดยการใช้คำเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งหนึ่ง ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น และใช้การเปรียบเทียบเกินจริง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น

        3. การเล่นคำ มีการเล่นคำซ้ำ ใช้ภาษาสละสลวย พ้องเสียง การเล่นสัมผัสพยัญชนะ

คำศัพท์ เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


        กระยาหงัน       แปลว่า วิมาน  สวรรค์ชั้นฟ้า
        กะระตะ           แปลว่า เร่งม้า
        กั้นหยั่น           แปลว่า อาวุธสำหรับเหน็บติดตัว
        กิดาหยัน         แปลว่า ผู้มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์
        กิริณี              แปลว่า ช้าง
        แก้วพุกาม       แปลว่า แก้วอันมีค่าจากเมืองพุกามในพม่า

        เขนง              แปลว่า เขาสัตว์สำหรับใส่ดินปืน
        คับแคบ          แปลว่า ชื่อนกชนิดหนึ่งเป็นนกเป็ดน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุด
        เค้าโมง           แปลว่า ชื่อนกมีหลายชนิดหากินเวลากลางคืน เค้า หรือฮูก ก็เรียก
        แค                แปลว่า ชื่อต้นไม้ดอกมีสีขาวและแดง ยอดอ่อนและฝักกินได้
        งาแซง           แปลว่า ไม่เสี้ยมปลายแหลม วางเอนเรียงเป็นลำดับสำหรับป้องกัน
        จากพราก       แปลว่า ชื่อนกในวงศ์นกเป็ดน้ำ ในวรรณคดีนิยมว่าคู่ของนกชนิดนี้ต้องพรากและครวญถึงกันในเวลากลางคืน

        เจียระบาด       แปลว่า ผ้าคาดเอวชนิดหนึ่ง มีชายห้อยที่หน้าขา
        ชนัก              แปลว่า เครื่องผูกคอช้าง ทำด้วยเชือก มีปมหรือห่วงห้อยพาดลงมาเพื่อให้คนที่ขี่ใช้หัวแม่เท้าคีบกันตก

        ชักปีกกา        แปลว่า รูปกองทัพที่ตั้ง มีกองขวา กองซ้ายคล้ายปีก
        ชาลี              แปลว่า ตาข่าย
        ชังคลอง         แปลว่า แย่งทางที่ตนจะได้เปรียบ
        เช็ดหน้า         แปลว่า ผ้าเช็ดหน้า
        ดะหมัง           แปลว่า เสนาผู้ใหญ่

        ตระเวนไพร     แปลว่า ชื่อของนกชนิดหนึ่ง ชอบหากินเป็นฝูง
        ตรัสเตร็จ        แปลว่า สว่างแจ้ง สวยงาม
        ตาด              แปลว่า ผ้าทอด้วยไหมควบเส้นเงินหรือเส้นทอง
        ตำมะหงง        แปลว่า เสนาผู้ใหญ่
        ตุนาหงัน         แปลว่า หมั้น

        เต่าร้าง          แปลว่า ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ต้นคล้ายต้นหมาก ผลทะลายเป็นพวง
        ไถ้               แปลว่า ถุงสำหรับคาดเอวนำติดตัวไปที่ต่าง ๆ
        ธงฉาน          แปลว่า ธงนำกระบวนการ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม
        ธงชาย          แปลว่า ธงมีชายเป็นรูปสามเหลี่ยม
        นามครุฑา      แปลว่า ชื่อการตั้งค่ายกองทัพตามตำราพิชัยสงคราม
        แน่นนันต์       แปลว่า มากมาย

        บุหรง            แปลว่า นกยูง
        เบญจวรรณ    แปลว่า นกแก้ว ขนาดใหญ่มีหลายสี
        ประเสบัน       แปลว่า ที่พักเจ้านาย
        ปาเตะ           แปลว่า ชื่อตำแหน่งขุนนาง
        ปืนตับ           แปลว่า ปืนหลายกระบอกเรียงกันเป็นตับ

        พลขันธ์         แปลว่า กองกำลังทหาร
        พันตู            แปลว่า ต่อสู้ติดพัน
        โพยมบน       แปลว่า ท้องฟ้าเบื้องบน
        ไพชยนต์       แปลว่า ชื่อรถหรือวิมานของพระอินทร์ ใช้เรียกที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
        เฟื่อง            แปลว่า ครื่องห้อยโยงตามช่องหน้าต่างเพื่อประดับให้งาม
        ภัสม์ธุลี         แปลว่า ผง ฝุ่น ละออง
        มณฑก         แปลว่า เรียกปืนเล็กยาวชนิดหนึ่งว่า ปืนมณฑก


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิงthaigoodview.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2567 เวลา 16:05:16 703,873 อ่าน
TOP
x close