x close

อ่วม! ไฟฟ้า-น้ำมัน-LPGแห่ปรับขึ้น พลังงานสั่ง กฟผ. แบกภาระอีกรอบ

ราคาน้ำมัน


อ่วมไฟฟ้า-น้ำมัน-LPGแห่ปรับขึ้น แก๊สโซฮอล์95ทะลุ40บ. “เพ้ง”สั่งกฟผ.ตรึงเอฟที  (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           กระทรวงพลังงานเสนอนายกฯ ดูแลราคาพลังงาน น้ำมัน-ค่าไฟ-แอลพีจี-เอ็นจีวี คาดเอฟทีปลายปีพุ่ง 2.8 สตางค์ต่อหน่วย สั่ง กฟผ. แบกภาระอีกรอบ พร้อมเตือนแม่ค้าข้าวแกงอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

           นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ว่า  กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอแนวทางดูแลสถานการณ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าในท้องตลาด มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า กระทรวงพลังงานจะดูแลใน 4 เรื่อง ได้แก่

           1. การดูแลราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชนมากนัก ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมีความกังวลมาก เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับขึ้นสูง โดยน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ถึง 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ปัจจุบันอยู่ที่ 104 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะดูแลราคาน้ำมันโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล โดยดีเซลจะดูแลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตลอดปี 2556 ซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็นบวกกว่า 4,000 ล้านบาท

           2. การดูแลค่าไฟฟ้า โดยช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี 2556 (ก.ค.-ธ.ค.) โดยจะตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) 2.8 สตางค์ต่อหน่วย โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระไปก่อน เนื่องจากพบว่าค่าเอฟทีมีแนวโน้มปรับขึ้น 2.8 สตางค์ต่อหน่วย

           3. ส่วนการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) นั้น กระทรวงฯ ยืนยันกำหนดเวลาปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2556 เป็นต้นไป เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันตรึงอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในส่วนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยราว 7.5 ล้านครัวเรือนนั้น รัฐบาลจะเยียวยาทั้งหมดให้สามารถซื้อในราคาเดิมได้


           "ยืนยันว่าการปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาอาหาร เพราะข้อมูลจากการคำนวณต้นทุนก๊าซฯ ต่ออาหารพบว่า ปัจจุบันราคาก๊าซฯ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้นทุนอาหาร 1% หรือ 30 สตางค์ต่อจาน หากขยับราคาก๊าซฯ เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จะกระทบต้นทุนอาหาร 1.5 สตางค์ต่อจาน และหากปรับราคาครบ 6 บาทต่อกิโลกรัม จะกระทบต้นทุนอาหารที่ 10 สตางค์ต่อจานเท่านั้น ดังนั้นผู้ขายอาหารจะอ้างว่าราคาก๊าซฯ กระทบต้นทุนไม่ได้" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

           4.การดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และนโยบายขยายสถานีบริการ ล่าสุด บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้ชี้แจงแผนการขยายสถานีบริการเอ็นจีวีเพิ่ม เชื่อว่าแผนการลงทุนจะจูงใจให้ประชาชนนิยมใช้เอ็นจีวีมากขึ้น  และส่งผลให้การใช้แอลพีจีในรถยนต์ลดลง
 
           นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขออนุมัติหลักการเรื่องการขยายเอ็นจีวีไร้สารคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเอ็นจีวีเกรดพรีเมียม โดยให้ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์ขอตั้งสถานีบริการได้เอง โดยรับก๊าซฯ จาก ปตท.จำหน่าย







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ่วม! ไฟฟ้า-น้ำมัน-LPGแห่ปรับขึ้น พลังงานสั่ง กฟผ. แบกภาระอีกรอบ อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2556 เวลา 16:50:44 1,710 อ่าน
TOP