x close

ธปท. เผย หนี้ครัวเรือนพุ่งถึง 81.9% แต่เศรษฐกิจยังทรงตัว

หนี้ครัวเรือน คนไทย

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
 
             ธปท. พบภาระหนี้ครัวเรือนสูงถึง 81.9 เปอร์เซ็นต์ต่อรายได้ เหตุกู้เงินในระบบ เพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ และการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกของคนรุ่นใหม่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
 
             จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงจากปี 2551 ซึ่งอยู่ระดับที่ 58.5 เปอร์เซ็นต์ต่อรายได้ หรือมีหนี้สินเฉลี่ย 266,572 บาทต่อครัวเรือน เป็น 81.9 เปอร์เซ็นต์ หรือ 439,490 บาทต่อครัวเรือน โดยในปี 2555 มีหนี้ครัวเรือนทั้งระบบรวม 8.81 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.5 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง และกระทบต่อการออมนั้น
 
             ล่าสุด วันนี้ (16 กรกฎาคม 2556) นางฤชุ กร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายนโยบายสถาบันการเงิน เผยว่า จากการติดตามยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของระบบการเงินไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวนี้ ยังไม่พบอะไรที่น่าเป็นห่วง โดยเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นบ้าง ตามขนาดของสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ แม้จะลดลงบ้าง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก
 
             ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ เริ่มระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และมีการติดตามสินเชื่อที่มีปัญหา และแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สินเชื่อในส่วนของอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มขึ้นมากนั้น เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินรองรับ เช่น สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ช่วงที่ผ่านมาเพิ่มไม่สูงมากนัก ซึ่ง ธปท. จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
 
             ด้าน นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี เผยว่า ขณะนี้ธนาคารเริ่มคุมเข้มการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบ้านและคอนโดมิเนียมหลังที่ 3 โดยจะอนุมัติการให้สินเชื่อประมาณ ร้อยละ 50-70 ของวงเงินสินเชื่อ เพราะอาจเข้าข่ายเก็งกำไร
 
             ส่วนภาระหนี้ครัวเรือนที่หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวล หลังเพิ่มขึ้นถึง 81.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากดูรายละเอียดจะพบว่า เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินในระบบ เพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ และการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกของคนรุ่นใหม่ จนทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมขึ้น โดยมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้กู้ผ่านเครดิตบูโร ทำให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ซึ่งคาดว่า เอ็นพีแอลในตลาดรวมขณะนี้ ยังบริหารจัดการได้ที่ประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่น่ากังวลนัก
 



 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธปท. เผย หนี้ครัวเรือนพุ่งถึง 81.9% แต่เศรษฐกิจยังทรงตัว โพสต์เมื่อ 16 กรกฎาคม 2556 เวลา 13:23:27 1,408 อ่าน
TOP