x close

แถลง วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออก ปธ. ศาล รธน. แต่งตั้ง จรูญ รักษาการ


วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ยื่นหนังสือลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เหตุเพราะเคยให้คำมั่นว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี และได้เสร็จสิ้นภารกิจดังที่ตั้งใจไว้

            เมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม 2556) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 เหตุผลที่ลาออก เนื่องจากก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯ ว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปีหรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่าง ๆ

            โดยแท้จริงแล้วนายวสันต์ตั้งใจจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และมีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2556 เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งได้เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้

             นายวสันต์ กล่าวอีกว่า การลาออกจากตำแหน่งไม่ใช่เป็นการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงให้ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง

            ด้านผู้สื่อข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ที่คาดว่าจะเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนต่อไปน่าจะเป็นนายจรูญ อินทจาร หรือ นายนุรักษ์ มาประณีต และหากนายวสันต์ลาออกจากตุลาการฯ หลังวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ทางประธานวุฒิสภาต้องจัดให้มีการสรรหาตุลาการฯ ใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนคณะตุลาการฯ ที่เหลือ 8 คน ยังปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีต่าง ๆ ได้ แต่การประชุมคณะตุลาการฯ ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ จะถือเป็นนัดประชุมสุดท้ายที่นายวสันต์ จะเข้าร่วมเป็นองค์คณะ

            สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ดำรงขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 มีวาระรวม 9 ปี โดยนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นเมื่อ นายชัช ลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกนายวสันต์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์ ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 ตุลาคม 2554

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดช่วงสายวันนี้ ทางนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลงถึงกรณีที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า นายวสันต์ได้แสดงเจตนาว่าจะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี อยู่แล้ว และตอนนี้ก็ใกล้เคียงกับเวลาดังกล่าว จึงได้ลาออกตามเจตจำนง ส่วนงานของนายวสันต์ก็แล้วเสร็จไปแล้วบางส่วน จากเดิมในปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีคดีค้างอยู่ประมาณ 123 คดี ส่วนนายวสันต์สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปถึง 109 คดี ตอนนี้เหลือเพียง 30 กว่าคดีเท่านั้น (รวมของปี 2556 ด้วย)

          นอกจากนี้ นายวสันต์ ยังได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถรองรับภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน ด้วยการเดินทางไปบรรยายด้วยตนเองในต่างจังหวัด และสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ

          นายพิมล กล่าวต่อว่า หลังจากที่นายวสันต์ลาออกแล้วนั้น ทางประธานวุฒิสภาจะต้องสรรหาตุลาการมาทดแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นายวสันต์พ้นจากตำแหน่ง โดยตนยืนยันว่า การลาออกในครั้งนี้ เป็นความประสงค์ส่วนตัวของนายวสันต์เอง ไม่ได้มีประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด และก็เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลไม่ส่งผลต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

          ส่วนเรื่องการลาออกของนายวสันต์จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีหรือไม่นั้น นายพิมล กล่าวว่า ขณะนี้มีคดีสำคัญที่น่าสนใจ เช่น กรณีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และกรณีสมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ยังเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 ท่าน ถ้าหากองค์คณะมีไม่น้อยกว่า 5 คน ก็สามารถประชุมได้ ส่วนข้อกังวลว่า เหลือตุลาการ 8 คน อาจจะทำให้ผลลงมติออกมาเป็นเลขคู่นั้น โดยหลักการแล้วคณะตุลาการต้องมีการหารือกันก่อนจนได้ข้อยุติ แต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างยากที่จะเกิดมติในลักษณะเช่นนั้น

         สำหรับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าง นายพิมล ระบุว่า ตามจริงจะต้องแต่งตั้งผู้มาทำหน้าที่รักษาการแทน แต่โดยปกติแล้วตุลาการที่อาวุโสสูงสุดจะปฏิบัติหน้าที่ให้ชั่วคราว ซึ่งกรณีนี้ได้ "นายจรูญ อินทจาร" มานั่งตำแหน่งนี้แทน ส่วนการลงนามในเอกสารต่าง ๆ โดยหลักแล้ว ตุลาการผู้ดูแลคดีสามารถทำได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี การเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่นั้น ในทางปฏิบัติต้องรอให้กระบวนการสรรหาตุลาการคนใหม่เสร็จสิ้นก่อน โดยตุลาการคนใหม่ที่ได้รับการสรรหาจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี


 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แถลง วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออก ปธ. ศาล รธน. แต่งตั้ง จรูญ รักษาการ โพสต์เมื่อ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:21:43 3,811 อ่าน
TOP