x close

แนะ 3 ข้อ ป้องกันภัยจากฟ้าผ่า หลังพบข้อมูลเจ็บ-ตายอื้อ

ฟ้าผ่า

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          อธิบดีกรมควบคุมโรคเตือน ระวังฟ้าผ่าช่วงฤดูฝน หลังพบว่า ใน 5 ปี คนไทยโดนฟ้าผ่า 180 คน มีผู้เสียชีวิต 46 คน พร้อมแนะ 3 ข้อ ปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย หากเหตุเกิดขณะอยู่ในรถให้ปิดกระจก-อย่าลงจากรถจะดีที่สุด 
 
          วันนี้ (19 กรกฎาคม 2556) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บรุนแรงจากฟ้าผ่านั้น พบว่า ใน 5 ปี คนไทยโดนฟ้าผ่า 180 คน มีผู้เสียชีวิต 46 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลผู้เสียชีวิตจากผู้ป่วยที่มารักษาตัวจากฟ้าผ่าที่โรงพยาบาลเพียง 33 แห่ง เท่านั้น
 
          นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกฟ้าผ่าที่เสียชีวิตทันที หรือบางรายบาดเจ็บไม่รุนแรง ไม่ได้มาโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก โดยผู้ถูกฟ้าผ่ามีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 30 มีสาเหตุจากหัวใจหยุดเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ช็อกทันที สำหรับฟ้าผ่าเกิดจากประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆวิ่งลงสู่พื้นดินและจะผ่าลงในจุดที่สูงที่สุดของสถานที่นั้น ๆ
 
          แม้บางครั้งฟ้าผ่าไม่ถูกคนโดยตรง แต่คนที่อยู่ใกล้จับจุดดังกล่าว อาจได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้ เช่น  กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเสื้อผ้าหรือตัวที่เปียก โลหะที่สวมใส่ โครงเสื้อชั้นใน ลวดจัดฟัน สร้อยโลหะ และอุปกรณ์โลหะที่ใช้ทำงาน มือถือ เป็นต้น
 
          นพ.พรเทพ ยังกล่าวว่า การป้องกันอันตรายจากการถูกฟ้าผ่าทำได้ ดังนี้
 
        1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ในขณะฝนตกฟ้าคะนอง หรือสวมใส่อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ทั้งทองคำ เงิน ทองแดง นาก และสร้อยโลหะ หากจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งควรนั่งหมอบ ย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นให้มากที่สุด แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่าลงที่สูง
 
        2. ห้ามอยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์สาธารณะ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
 
        3. ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ เปิดคอมพิวเตอร์ เล่นอินเทอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออยู่ใกล้ประตู หน้าต่างที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะในขณะฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสื่อไฟฟ้าต่าง ๆ ทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
 
          นพ.พรเทพ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนกรณีที่อยู่ในรถควรปิดกระจกทุกบาน หากฟ้าผ่าลงรถควรตั้งสติ ไม่ควรออกจากรถโดยเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไหลตามผิวโลหะของตัวถังรถจะไหลลงสู่พื้นดิน หากออกนอกรถจะมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่าสูง การหลบอยู่ในรถจึงปลอดภัยที่สุด เพราะโครงสร้างรถยนต์เป็นโลหะนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้
 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะ 3 ข้อ ป้องกันภัยจากฟ้าผ่า หลังพบข้อมูลเจ็บ-ตายอื้อ โพสต์เมื่อ 19 กรกฎาคม 2556 เวลา 14:49:51 2,608 อ่าน
TOP