x close

ม็อบสวนยาง ลั่น 3 ก.ย. ชุมนุมใหญ่ตามเดิม-ตัวแทนวอล์กเอาต์ถกรัฐ


ม็อบสวนยาง


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

 
             ตัวแทนผู้ปลูกยาง 4 ภาค ลุยเจรจารัฐบาล ก่อนวอล์กเอาต์ หลังรัฐไม่รับข้อเสนอ รับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 แค่กิโลละ 80 บาท ลั่น ปิดถนนต่อ เดินหน้าชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศ 3 ก.ย.นี้
 

              วันนี้ (28 สิงหาคม 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน ล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น. นางเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ชะอวด ในฐานะตัวแทนผู้นำท้องถิ่น ได้เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อขอให้เปิดเส้นทางบริเวณจุดตัดทางรถไฟบ้านตูล ซึ่งทางผู้ชุมนุมได้รับข้อเสนอ แต่ยังไม่รับปากว่าจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด พร้อมขอเวลากลับไปหารือกับผู้ชุมนุมก่อนจะให้คำตอบในวันพรุ่งนี้

              ขณะที่บรรยากาศการเจรจาหารือระหว่างภาครัฐบาลโดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับตัวแทนคณะกรรมการเครือข่ายชาวชวนยางพาราแห่งประเทศไทย และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกยาง 4 ภาค เพื่อหาข้อยุติเรื่องราคายางพารานั้น เป็นไปอย่างเคร่งเครียดตลอด กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 1.30 ชั่วโมง ตัวแทนเกษตรกรสวนยางจำนวนหนึ่งได้วอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม

              ภายหลัง นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า นายยุคล ยืนยันจะรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม และปฏิเสธรับข้อเสนอของเกษตรกรสวนยางที่ให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้นสาม ราคา 101 บาทต่อกิโลกรัม

              นอกจากนี้ นายยุคล ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกร ว่าจะขอให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซง ซึ่งทางกลุ่มยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากจะเกิดปัญหาไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด

             อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีข้อยุติ ก็จะยังคงมีการชุมนุมปิดถนนสายเอเชียที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต่อไป รวมถึงยืนยันที่จะเดินหน้าชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 3 กันยายนนี้


ม็อบสวนยาง


ม็อบสวนยาง ยังปิดทาง รอผลแกนนำถกแก้ราคายางเที่ยงนี้

            สถานการณ์ม็อบสวนยาง ล่าสุด (28 สิงหาคม 2556) เมื่อเวลา 11.00 น. นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้แกนนำเครือข่ายยางพาราทั่วประเทศ จากทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดท่าทีในการชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 3 กันยายนนี้ โดยในที่ประชุมจะได้ข้อสรุปในเวลาประมาณ 12.00 น.

           จากนั้นในช่วงบ่ายจะไปประชุมร่วมกับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อไปเจรจาต่อรองกับเครือข่ายยางพาราทั่วประเทศ ไม่ให้ชุมนุมใหญ่พร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 3  กันยายน

           อย่างไรก็ตาม นายเพิก กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ตนรับไม่ได้กับราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาที่เหมาะสมนั้น ต้องอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไป


ตำรวจยังไม่สลายม็อบ รอผลถกเครือข่ายยางทั่วประเทศ


            สำหรับข่าวสลายการชุมนุมนั้น ทางตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีการสลายการชุมนุมในเวลานี้อย่างแน่นอน เพราะต้องรอผลการหารือของแกนนำเครือข่ายยางพาราทั่วประเทศก่อน และหากถ้าได้ข้อสรุปออกอย่างไร จึงค่อยมากำหนดมาตรการในการดำเนินการต่อไป  ซึ่งถ้าเครือข่ายสวนยางพาราทั่วประเทศที่เปรียบเสมือนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ยินยอมในข้อเสนอของรัฐบาล แล้วทางผู้ชุมนุมที่นครศรีธรรมราชไม่ยอมเปิดคืนพื้นที่จราจร ถึงเวลานั้นจึงจะตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม

         
กำนัน อ.ชะอวด เจรจาม็อบยางเปิดทางบ้านตูล

           ขณะเดียวกัน นางเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ อ.ชะอวด ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านชะอวด พร้อมด้วยผู้นำท้องที่ใน อ.ชะอวด และ อ.จุฬาภรณ์ นครศรีธรรมราช มีการนัดประชุมหารือกัน ที่เทศบาลตำบลชะอวด ในเวลา 10.00 น. เพื่อกำหนดท่าทีในการไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณแยกบ้านตูล เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางบ้านตูล และให้มีการชุมนุมจุดเดียว ที่บริเวณแยกควนหนองหงษ์ ซึ่งหากการเจราจาไม่สามารถตกลงกันได้ อาจจะมีการนำมวลชนเข้าเผชิญหน้ากันด้วย
 
ทางหลวงแนะเส้นทางเลี่ยงม็อบสวนยาง


            นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การชุมนุมของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงปิดการจราจรบนทางหลวง หมายเลข 41 กิโลเมตรที่ 333 บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ ทั้ง 2 ฝั่งจราจร และเริ่มเข้าไปปิดการจราจร เส้นทางเลี่ยงย่อย ทางหลวงหมายเลข 4151 กิโลเมตรที่ 19+300 (กิโลเมตรที่ 19 หลักที่ 300 เมตร) ตอนบ้านกุมแป-ควนหนองหงษ์ บริเวณแยกบ้านตูล เป็นจุดตัดระหว่างทางหลวง หมายเลข 4151 ถึงทางหลวงหมายเลข 4165

             ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการสัญจรไป-มา ในเส้นทางดังกล่าว กรมทางหลวงแนะนำเส้นทางเลี่ยง หากประชาชนต้องการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้จากสายเอเชีย ทางหลวงหมายเลข 41 และเดินทางมาถึงอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 403 ต่อไป ดังนี้ เส้นทาง ทุ่งสง-ห้วยยอด-ตรัง-พัทลุง-สงขลา ส่วนเส้นทางที่ 2 ประชาชนสามารถใช้เส้นทางจาก ทุ่งสง-ร่อนพิบูลย์-เมืองนครศรีธรรมราช-สงขลา (ทล.408)

            สำหรับ เส้นทางเข้ากรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถใช้เส้นทางเลี่ยง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

            เส้นทางที่ 1 พัทลุง-ชะอวด-บ้านตูล-เชียรใหญ่-เมืองนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี

            เส้นทางที่ 2 พัทลุง-ตรัง-กระบี่-พังงา

            เส้นทางที่ 3 พัทลุง-ตรัง-ทุ่งสง-สุราษฎร์ธานี

            สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ตลอด 24 ชั่วโมง


ม็อบสวนยาง ยังปิดทาง ลั่นหากสลายชุมนุม บานปลายแน่


          เมื่อเวลาประมาณ 07.30. น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพร ยอดระบำ แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงสถานการณ์ชุมนุม บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ และที่บริเวณแยกจุดตัดทางรถไฟบ้านตูล ว่า ในวันนี้ทางเกษตรกรยังคงชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แล้ว ในส่วนตัวไม่อยากให้รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ควรจะหาทางออกด้วยการพูดคุยเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากมีการใช้กำลังเข้าสลายผู้ชุมนุม เหตุการณ์จะบานปลายอย่างแน่นอน

          ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวจาก จ.นครศรีธรรมราช รายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้ชุมนุมกำหนดแผนการขั้นที่ 3 ด้วยการนำกำลังไปปิดถนนเพิ่ม ที่สี่แยกบ่อล้อ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช แต่ทางตำรวจรู้ทัน จึงได้นำกำลังประมาณ 500 นาย มาตรึงอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงวันนี้

          อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ต้องการให้มีการคืนพื้นที่บริเวณแยกจุดตัดทางรถไฟบ้านตูล เพราะสร้างความเสียหายอย่างหนักจากการที่รถไฟ และรถยนต์สัญจรผ่านไม่ได้ แต่ทว่า ยังติดที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้รถบรรทุกแก๊สมาจอดขวางรางรถไฟไว้ ทำให้ตำรวจยังไม่กล้าตัดสินใจเข้าสลาย เพราะเกรงสถานการณ์จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          ด้าน นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เป็นห่วงกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรสวนยางพาราที่ได้ออกมาประท้วงเคลื่อนไหวปิดถนนเพื่อเรียกร้องเรื่องราคายาง ซึ่งหน้าที่ของตนก็คือ การเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร ถึงสถานการณ์ราคายางที่ซื้อขายในปัจจุบัน ทั้งนี้ มองว่าการชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งไม่ว่าภาคใต้จะเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคใด รัฐบาลก็พร้อมให้การช่วยเหลือ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม็อบสวนยาง ลั่น 3 ก.ย. ชุมนุมใหญ่ตามเดิม-ตัวแทนวอล์กเอาต์ถกรัฐ อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2556 เวลา 17:53:51 13,857 อ่าน
TOP