x close

การขับเคลื่อนพันธกิจ “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก”

การขับเคลื่อนพันธกิจ “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก”

 

พันธกิจ “เมืองหนังสือโลก”ของกรุงเทพมหานครนับตั้งแต่ได้รับมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) เป็นลำดับที่ 13 ต่อจากกรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย ตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ดำเนินการและมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ตามแผนงานที่ได้นำเสนอต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)


 

พันธกิจแรก “สร้างหอสมุดเมือง”(City Library) และพิพิธภัณฑ์ประวัติหนังสือไทย (Thai Literacy Museum) ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังเจรจาทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อขอเช่าอาคารบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ขนาด 6,396 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำรองในการจัดตั้งหอสมุดเมืองเพื่อเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการก่อน ระหว่างรอเข้าไปปรับปรุงศาลาว่าการ กทม. 1 ที่เสาชิงช้า ขนาดพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดแบบถาวรเมื่อย้ายศาลาว่าการไปที่ดินแดงแล้ว โดยหอสมุดเมืองแห่งนี้นอกจากจะเป็นที่รวบรวมหนังสือทั่วไปแล้ว ยังจะเป็นแหล่งรวบรวมวรรณกรรมไทย วรรณกรรมเด็กและเยาวชน วรรณกรรมอาเซียนและระดับโลก อีกทั้งห้องสมุดประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการหนังสือไทย ศูนย์ข้อมูลและแห่งเรียนรู้โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ หอจดหมายเหตุกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและกรุงเทพศึกษาด้วย

 

พันธกิจที่ 2 “ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย” เพื่อส่งเสริมจินตนาการ สร้างสรรค์ความคิดนอกกรอบให้แก่คนทุกวัย กรุงเทพมหานครได้จ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษาวิจัยเนื้อหาและการใช้พื้นที่ อาคารอนุรักษ์ ประปาแม้นศรี หรือพื้นที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย งานวิจัยแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบประมาณการราคาการปรับปรุงสถานที่พร้อมนำข้อเสนอจากการศึกษาวิจัยมาเป็นแนวทางในการจัดตั้ง จากนั้นจะมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย เช่น กิจกรรมคบเด็กสร้างเมืองการ์ตูน เทศกาลการ์ตูน การจัดรายการทีวี “ขนาดตัวการ์ตูนยังชอบอ่านหนังสือ”เป็นต้น

 

พันธกิจที่ 3 “สร้างวัฒนธรรมการอ่านสร้างวัฒนธรรมการคิด”ซึ่งมุ่งหวังเพาะเมล็ดพันธุ์ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดและก่อนวัยเรียน โดยกรุงเทพมหานครได้จ้างที่ปรึกษาจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในเด็ก “Book Start”  ได้เริ่มนำร่องที่เขตดุสิตและราษฎร์บูรณะจากนั้นได้ขยายต่อไปทั้ง50 เขตทั่วกรุงเทพฯ  สำหรับกลุ่มเป้าหมาย0-3 ปี มีกิจกรรมโรงพยาบาลสร้างสมอง มอบชุดหนังสือเล่มแรกให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จัดมุมการอ่านและนิทรรศการความรู้ในโรงพยาบาล และให้ความรู้ด้านการอ่านแก่พ่อแม่ ด้านกลุ่มเป้าหมาย 4-12 ปี มีกิจกรรมที่โรงเรียน อบรมความรู้ครู บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น จัดฐานความรู้ต้นแบบ School Tour ฐานการเรียนรู้จากหนังสือนิทานต่างๆ สุดยอดจิตนาการนักอ่านรุ่นเยาว์ และมอบชั้นและชุดหนังสือให้แก่โรงเรียน ส่วนกลุ่มเป้าหมายเด็ก 13 ปีขึ้นไปรวมถึงประชาชนทั่วไป มีการลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมกับชุมชน เช่น ทอดน่องท่องชุมชน การค้นคว้าและทำหนังสือทำมือ ห้องสมุดเขตชวนอ่าน การแข่งขันตอบปัญหาจากการอ่าน พร้อมทั้งมอบชั้นและชุดหนังสือให้ชุมชน

พันธกิจที่ 4 “ส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน” ได้จัด“โครงการพี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง” อบรมอาสาสมัครให้มีความรู้ เทคนิคการอ่าน การสร้างกระบวนการกลุ่ม แล้วนำไปถ่ายทอดสู่รุ่นน้องที่เข้าร่วมโครงการ 10,000 คน โดยใช้พี่1 คน ต่อน้อง 5 คน พร้อมกันนี้ได้จัดกลุ่มBangkok Reading Club อ่านให้มันส์สนั่นเมือง รวมตัวนักอ่านเข้ามาช่วนกันกระตุ้นให้เกิดสังคมการอ่าน และยังจัดรถห้องสมุดเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนต่างๆ รวมทั้งบ้านหนังสือ และห้องสมุดการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร ที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ  เพื่อจุดประกายการเรียนรู้อีกด้วย

 

พันธกิจที่ 5 “ส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย” เริ่มต้นด้วยการจัดประกวดมุมส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียน ร้านหนังสือและหน่วยงานต่างๆ ในช่วงสิงหาคม –ตุลาคม 2556 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2แสนบาท โดยมีเป้าหมาย 300 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมอบรางวัลในเดือนตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน และจัดประกวดโครงงานพร้อมทั้งโชว์ผลงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ประจำปี ล่าสุดระหว่าง 19-25 สิงหาคม 2556จัดงาน  Scientific Fair ส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์  ณ บริเวณทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้า (Sky Walk) BTS สถานีสยามสแควร์ พร้อมด้วยบูธนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับหนังสือวิทยาศาสตร์ “Scientific Book Fair”เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมนำไปปรับใช้กับการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาระดับชาติการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ หัวข้อ “ทำอย่างไรให้หนังสือแนววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าอ่านสำหรับเยาวชน” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ร่วมทั้งนักเขียน ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น และตัวแทนเยาวชน มาพูดคุยและแสดงมุมมองให้ฟัง

 

พันธกิจที่ 6 “ตามหาวรรณกรรมสำหรับคนกรุงเทพฯ” กิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยผ่านวรรณกรรมได้เดินหน้าแล้วเช่นเดียวกันโดยเลือกจัดกิจกรรมให้เหมาะกับโอกาสสำคัญประจำเดือนต่างๆ ในเดือนมิถุนายนมีกิจกรรมอ่านกันสนั่นเมืองเรื่องสุนทรภู่ จากนั้นมีสัปดาห์หนังสือเด็กและเยาวชน และวันภาษาไทยแห่งชาติ ฃในเดือนกรกฎาคม วรรณกรรมของแม่และผู้หญิงในเดือนสิงหาคม วรรณกรรมสำหรับเยาวชนในเดือนกันยายน วรรณกรรมการในสมัยรัชกาลที่ 5 ในเดือนตุลาคม ประเพณีไทยเดือนสิบสองในเดือนพฤศจิกายน วรรณกรรมของพ่อในเดือนธันวาคม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบวรรณกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น “พล นิกร กิมหงวน ชวนย้อนหลังวังบูรพา”  “สี่แผ่นดิน คลองรักบางหลวง”  “เด็กบ้านสวน ชวนท่องธนบุรี” “เล็บครุฑ-ลอดลายมังกร เล่าขานตำนานเยาวราช” เป็นต้น ซึ่งวรรณกรรมที่คัดเลือกนี้จะถูกจัดหาเข้าไปไว้ในห้องสมุด พร้อมจัดเวทีวิพากษ์วรรณกรรม  และกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนให้อ่านวรรณกรรมในห้องสมุด และร้านหนังสือที่สนใจร่วมโครงการ

 

พันธกิจที่ 7 “หนังสือพัฒนาจิต” สนับสนุนการอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาความคิด ยกระดับจิตใจ สร้างสังคมไทยสันติสุข โดยจัดประชุมส่งเสริมการอ่าน 5 ศาสนา เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในศาสนสถาน วัด มัสยิด และโบสถ์ ในช่วงกรกฎาคม – ตุลาคม 56 และเตรียมการสัมมนาระดับชาติ “Books that inspire life”  รวมหนังสือทุกศาสนาที่พัฒนาจิตใจในงาน spiritaul book Fair  การอ่านหนังสือพัฒนาจิตในศาสนสถาน

 

พันธกิจที่ 8 “ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายฯ สร้างรากฐานวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยให้แข่งแข็งและยั่งยืน” นับตั้งได้รับเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านกว่า 100  ภาคี ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  กิจกรรมส่งเสริมการอ่านเกิดขึ้นทุกวัน  อย่างหลากหลาย ทั้งสาระ ความบันเทิง และการแบ่งบัน ถูกจัดขึ้นตลอดทั้งปีและยาวไปถึงปีหน้า ในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิด “อ่านกันสนั่นเมือง”  เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ในหอสมุดของมหาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้  ห้องสมุดคนตาบอด บ้านหนังสือในชุมชน  รถห้องสมุดเคลื่อนที่  รถเมล์ ขสมก. รถแท็กซี่ ร้านหนังสือ TK Parkมุมอ่านหนังสือในอาคารสถานที่ที่หน่วยงานและภาคีเครือข่ายฯ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บุคลากรในองค์กรและประชาชนทั่วไปได้อ่านหนังสือ รวมทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตามห้างสรรพสินค้า ชุมชน งานหนังสือ และในหน่วยงานต่างๆ 

 

พันธกิจสุดท้าย “เตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพ IPC 2014”

ได้กำหนดจัดการประชุม  30th International Publishers Congress ขึ้นระหว่าง 25-27 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และเซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ  มีการเชิญชวนนานาประเทศให้เข้ามาร่วมประชุม โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น งาน  Seoul International Book fair 2013 ในเดือนมิถุนายน ที่กรุงโซล เกาหลีใต้  งาน Family Books Festival 2013 ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 56ในกรุงเทพฯ งาน Beijing International Book Fair 2013 ณ กรุงปักกิ่ง ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ 

 

การส่งเสริมการอ่านตาม9 พันธกิจของเมืองหนังสือโลกยังคงเข้มข้นผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งทั้งหมดมิใช่เพียงเพื่อรายงานต่อยูเนสโกเท่านั้น แต่มุ่งหวังให้คนไทยสนใจและรักการอ่านเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ทาง www.bangkokworldbookcapital2013.com  และ www.facebook.com/bkwbc2013

----------------------------
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การขับเคลื่อนพันธกิจ “กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก” โพสต์เมื่อ 6 กันยายน 2556 เวลา 17:17:21 2,364 อ่าน
TOP