
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 1 รับคำร้องของ ส.ว. และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ปมเร่งแก้ที่มา ส.ว. และคลิปกดบัตรแทนกัน แต่ยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวปล่อยโหวตวาระ 3 ได้ พร้อมสั่งรวมสำนวนกับคำร้องสมเจตน์
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารเผยแพร่ผลประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยระบุว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 1 สั่งให้รับคำร้อง 2 คำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 68
โดยเป็นคำร้องนายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ กรณีนายสมศักดิ์ และพวก รวม 312 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ฝ่ายค้านมีคลิปวิดีโอ ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่งเสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน เวลา 17.33 น. และมาตรา 10 วันที่ 11 กันยายน เวลา 11.43 น. จนทำให้ผ่านวาระ 2 ไปได้
เมื่อศาลพิจารณาคำร้องเห็นว่ามีมูล จึงมีคำสั่งให้รับทั้ง 2 คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง
ส่วนคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นการฉุกเฉินให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดระงับการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอ และให้แจ้งเลขาธิการรัฐสภาเพื่อแจ้งประธานรัฐสภาทราบต่อไป
ด้าน ตุลาการเสียงข้างน้อยคือ นายชัช ชลวร เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้อัยการสูงสุดเท่านั้น เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยผู้ทราบการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง
นอกจากนี้ รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรวมคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ และนายวิรัตน์เป็น 1 สำนวน เนื่องจากมีเนื้อหาคำร้องที่มีลักษณะเดียวกัน
ส่วนกรณีที่รัฐสภาได้นัดประชุมเพื่อลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ก็เป็นดุลพินิจของรัฐสภาที่จะดำเนินการ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งระงับหรือกำหนดมาตราคุ้มครองชั่วคราวการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
