x close

กรอบเอฟทีเอ ชิลี-ไทย ผ่านสภาฉลุย 464-6 เสียง คาดลงนาม 4 ตุลาคมนี้

สภาไฟเขียวกรอบ FTA ชิลี-ไทย ผ่านฉลุย 464-6 เสียง คาดลงนาม 4 ต.ค

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          กรอบเอฟทีเอชิลี-ไทย ผ่านสภาฉลุยด้วยคะแนน 464-6 คาดลงนาม 4 ตุลาคมนี้ ด้านฝ่ายค้านหวั่น ใช้ 3 ภาษา จะเสียเปรียบเวลามีข้อพิพาท แต่ รมช.พาณิชย์ ยัน กรณีแบบนี้จะใช้ฉบับภาษาอังกฤษ

          วันนี้ (2 ตุลาคม 2556) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญทั่วไป) มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีการพิจารณาความเห็นชอบกรอบสนธิสัญญาและข้อตกลงความร่วมมือ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลชิลีกับรัฐบาลไทย ซึ่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของการทำการค้าเสรีครั้งนี้ ต้องการขยายการค้าการลงทุนมากขึ้น เพิ่มโอกาสขยายฐานการค้าไปยังประเทศในทวีปอเมริกาใต้ประเทศอื่น และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะให้รัฐสภาพิจารณาให้ทันก่อนที่ประธานาธิบดีเปรู จะเยือนไทยวันที่ 4 ตุลาคมนี้

          ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มอภิปรายว่า การเจรจาการค้าเสรีครั้งนี้นับว่าล่าช้าไปมาก ประมาณ 1 ปี 1 เดือนได้ จากการเริ่มต้นศึกษาปี 2546 สรุปผลปี 2549 และตั้งเป้าลงนามในเดือนกันยายน 2555 แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ ทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าไป สุดท้ายชิลีจึงไปลงนามการค้าเสรีกับเกาหลีใต้แทน ส่งผลให้การส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยได้รับผลกระทบ ไม่ต่ำปีละหมื่นล้านบาท

          ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ข้อตกลงนี้ทำเป็น 3 ภาษา ได้แก่ ไทย, อังกฤษ และสเปน แต่ไม่มีการเขียนชัดเจนในด้านการตีความว่า หากเกิดข้อพิพาทจะใช้ภาษาใด ทำให้ข้อตกลงนี้มีความเสี่ยง และการที่จะให้สภารับรองความถูกต้องของภาษาสเปน ก็ไม่รู้ว่าจะทำด้วยวิธีใด เนื่องจากไม่มีใครรู้ภาษาสเปนเลย ดังนั้นควรมีเงื่อนไขว่า ให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบยืนยันว่า ภาษาสเปนแปลถูกต้องและพร้อมรับผิดชอบ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำกันมาก่อน

          นอกจากนี้ นายเกียรติ กล่าวอีกว่า สัญญานี้จะลงนามอีกวันที่ 4 ตุลาคม ตนอยากถามว่า ได้แจ้งรายละเอียดและผลผูกพันจากหนังสือสัญญานี้ ส่งต่อผู้ได้รับผลกระทบ และหาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะว่า มาตรา 190 มีการระบุว่า หากรายละเอียดยังไม่ครบถ้วน รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบได้อย่างไร

          ส่วนนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในสัญญานี้พบความผิดพลาดเรื่องภาษีบางรายการ จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 18 ซึ่งกรมสนธิสัญญาปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร และหากไม่ได้ตรวจพบประเทศจะเสียหายมูลค่าเท่าใด ดังนั้น เรื่องนี้ยังไม่จำเป็นที่จะให้ความเห็นชอบในวันที่ 4 ตุลาคม เนื่องจากทางชิลีก็ต้องไปขอความเห็นชอบกับสภาเขาเหมือนกัน สนธิสัญญาจึงจะมีผล นอกจากนี้ รัฐบาลแสดงท่าทีไม่ให้ความสำคัญต่อสนธิสัญญานี้ เพราะให้ รมช.พาณิชย์ มาชี้แจงแทน ทั้ง ๆ ที่คนชี้แจงควรเป็น รมว.คลัง, รมว.ต่างประเทศ และ รมว.พาณิชย์ มากกว่า

          ด้านนายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ข้อตกลงนี้เคยนำกรอบเข้าสู่การพิจารณารัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2556 แล้ว ส่วนการเพิ่มภาษาสเปนเข้าไปนั้น เป็นไปเพราะการเจรจาระหว่างสองฝ่าย และเนื้อหาภาษาสเปน สอดคล้องกับภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หากมีกรณีพิพาท จะยึดฉบับภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์ ส่วนเรื่องที่ชิลีต้องไปขอความเห็นชอบจากสภาเขาอีก ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องลงนามกันอยู่แล้ว และในประเด็นที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ก็มีการตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา

          หลังจากการอภิปรายยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง ผลการลงคะแนนปรากฏว่า เห็นชอบด้วยคะแนน 464 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรอบเอฟทีเอ ชิลี-ไทย ผ่านสภาฉลุย 464-6 เสียง คาดลงนาม 4 ตุลาคมนี้ อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2556 เวลา 17:42:27 2,680 อ่าน
TOP