x close

เปิดเส้นทางทำคลอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย หลังวาระ 3 ผ่านสภาฯ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            แม้จะผ่านสภาฯ วาระ 3 แล้ว แต่ในความเป็นจริงยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ก่อนที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะมีผลบังคับใช้ได้จริง

            ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก (1 พฤศจิกายน 2556) ก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ในวาระ 2 และ 3 ตามความคาดหมาย ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันทั้ง ส.ส. ในสภาฯ และผู้คนในสังคม ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

            อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเรียกขานกันว่าเป็น "นิรโทษกรรมสุดซอย" จะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาฯ ในวาระที่ 3 ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้ได้ทันที เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้สำเร็จ ดังนี้

            โดยหลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะต้องพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ แบ่งเป็น 3 วาระเช่นเดียวกับการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร คือ

            วาระที่ 1 ขั้นพิจารณารับหลักการ
            วาระที่ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งหรือคณะกรรมาธิการเต็มสภา (พิจารณารายมาตรา)
            วาระที่ 3 ขั้นลงมติ

            ทั้ง 3 วาระในชั้นวุฒิสภานี้ จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน หากครบกำหนดแล้ววุฒิสภายังพิจารณาไม่เสร็จ จะถือว่าร่าง พ.ร.บ. นั้นผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาโดยทันที

ในส่วนของการลงมติของวุฒิสภานั้น จะออกมาใน 3 กรณี คือ

            1. เห็นชอบ โดยไม่มีการแก้ไข
            2. เห็นชอบ แต่มีส่วนต้องแก้ไข
            3. ไม่เห็นชอบ


กรณีที่ 1 วุฒิสภาเห็นชอบ โดยไม่มีการแก้ไข

            หากวุฒิสภาลงมติในแนวทางที่ 1 คือ เห็นชอบ โดยไม่มีการแก้ไข จะถือว่าร่าง พ.ร.บ. ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันที


กรณีที่ 2 วุฒิสภาเห็นชอบ แต่มีส่วนต้องแก้ไข

            หากวุฒิสภาลงมติในแนวที่ 2 คือ เห็นชอบ แต่มีส่วนต้องแก้ไข วุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้รับทราบและพิจารณาว่าเห็นชอบกับสิ่งที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมมาให้หรือไม่ หากสภาฯ ลงมติเห็นชอบ ก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ภายใน 20 วัน เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

            แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ทั้ง 2 สภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำงานร่วมกัน เรียกว่า "คณะกรรมาธิการร่วมกัน" เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นอีกครั้ง เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นจะต้องส่งรายงานและเสนอร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วให้ทั้งสองสภาลงมติเห็นชอบอีกครั้ง หากเห็นชอบนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ภายใน 20 วัน เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย จะต้องยับยั้งร่างนั้นไว้ก่อน


กรณีที่ 3 วุฒิสภาไม่เห็นชอบ

            หากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะต้องยับยั้งร่างไว้ก่อนแล้วส่งร่างคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องรออีก 180 วัน จึงจะสามารถนำกฎหมายฉบับนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายดำเนินมาขั้นตอนที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบ และเตรียมจะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว แต่ทางฝ่าย ส.ส. หรือ ส.ว. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ยังสามารถระงับยับยั้งการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ ด้วยการเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

            ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที แต่หากพิจารณาเห็นแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นโมฆะไปโดยปริยาย





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเส้นทางทำคลอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย หลังวาระ 3 ผ่านสภาฯ อัปเดตล่าสุด 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:45:48 47,784 อ่าน
TOP