x close

เจิมศักดิ์ โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. เตือนอย่าเป็นทาสสภาโจร


เจิมศักดิ์ โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. เตือนอย่าเป็นทาสสภาโจร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
 
            เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์เฟซบุ๊ก จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. เตือน อย่าเป็นทาสสภาโจร ปล่อยผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ชี้ไม่ชอบธรรม ถ้าผ่านต้องคืนเงินให้ทักษิณ

            เมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน 2556) เฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภาว่า ขอให้ ส.ว. อย่าเป็นทาสสภาโจร ในการลงมติผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความไม่ชอบธรรมหลายประการ เช่น เป็นการล้มล้างคดีทุจริตต่าง ๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เท่ากับไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล นอกจากนี้ประเทศจะต้องคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาทอีกด้วย อีกทั้งขั้นตอนการผ่านสภาฯ ในวาระที่ 2-3 พรรคเพื่อไทยใช้เสียงข้างมาก รวบรัดตัดตอนให้เสร็จภายในคืนเดียว เป็นการใช้อำนาจแบบฉ้อฉล และไร้คุณธรรม ซึ่งถ้าหาก ส.ว. ตัดสินใจขัดขวางความไม่ถูกต้องเหล่านี้ ชื่อของพวกท่านก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์แน่นอน


สำหรับข้อความทั้งหมดของนายเจิมศักดิ์ มีดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงวุฒิสภา :
อย่าเป็นทาส "สภาโจร"

เรียนสมาชิกวุฒิสภา

            หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนโกงด้วยวิธีการอัปยศ ใช้เสียงข้างมากลากไป ท่ามกลางปฏิกิริยาสาปแช่งของคนไทยทุกภาคส่วนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในลำดับถัดไป

            ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของประเทศในอนาคต จึงได้ทำหนังสือถึงสมาชิกวุฒิสภา เพื่อพิจารณาไตร่ตรองข้อคิดเห็นบางประการ ดังต่อไปนี้

            1) สมาชิกวุฒิสภาย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะล้างผิดให้กับคดีอาญา ได้แก่ การฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ ขโมยปล้นทรัพย์ ที่ไม่สมควรจะมีการนิรโทษให้ เนื่องจากไปกระทบสิทธิในชีวิตของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อบุคคลถูกฆ่าตาย ถูกวางเพลิงเผาทรัพย์ ถูกปล้นทรัพย์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของเหยื่อผู้ถูกกระทำ รัฐไม่มีอำนาจจะไปยกเว้น นิรโทษหรือลบล้างสิทธิ มิให้มีการสืบสวนดำเนินคดีเอาผิดกับอาชญากรได้

            2) สมาชิกวุฒิสภาตระหนักดีอยู่แล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ฉวยโอกาสนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตโกงกินต่อแผ่นดิน ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของโลกและของไทยมาก่อนว่าจะมียุคสมัยใดที่รัฐสภาออกกฎหมายล้างผิดให้คนทุจริต ยิ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต และถอดถอนนักการเมืองที่เพียงส่อว่าจะทุจริตทำผิดต่อกฎหมาย สมาชิกวุฒิสภาจึงต้องไม่เห็นชอบกับกฎหมายที่จะล้างผิดให้แก่นักการเมืองทุจริต

            3) กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีผลให้ลบล้างคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ คดียึดทรัพย์ 46,300 ล้านบาท คดีทุจริตหวยบนดิน คดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง เป็นต้น หากฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ผ่านร่างพระราชบัญญัติในลักษณะนี้ เท่ากับว่าจงใจจะได้ก้าวก่ายอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลการวินิจฉัยคดีของฝ่ายตุลาการ

            4) กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหลายประเด็น หลายมาตรา อาจารย์ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่ารับฟัง ความว่า รัฐสภาจะตรากฎหมายเพื่อลบล้างยกเลิกคำพิพากษาของศาลไม่ได้ เพราะเท่ากับไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล เป็นการก้าวก่ายอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 197 นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ลบล้างคำพิพากษาของศาลที่ให้ยึดทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบ ร่ำรวยผิดปกติ 46,300 ล้านบาทเศษ เป็นผลให้กระทรวงการคลังจะต้องเอาเงินของแผ่นดินจ่ายให้แก่ทักษิณรวมดอกเบี้ยมากกว่า 57,000 ล้านบาท

            เมื่อเป็นการจ่ายเงินแผ่นดิน กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 (2) ที่จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อไม่มีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก็ย่อมไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 วรรคสอง

            ยิ่งกว่านั้น กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากนายวรชัย เหมะ ผู้เสนอ เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพราะเป็นผู้ถูกดำเนินคดีกรณีบุกรุกล้มการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา รวมทั้งบรรดาผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในศาล ญาติพี่น้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น การเสนอร่างและการลงมติเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ของ ส.ส.เพื่อไทย จึงเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122

            5) สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีความเป็นอิสระ ไม่ทำตัวเป็นขี้ข้าของใคร ย่อมเล็งเห็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ของพรรคการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติสั่งการ บงการ ของนักโทษหลบหนีคดีทุจริต

            นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ผู้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ตัดแต่งพันธุกรรมจนกระทั่ง "กลายพันธุ์" มาเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ล้างผิดให้คดีทุจริตโกงกินของทักษิณและพวกด้วยนั้น ยอมรับสื่อมวลชนว่า จุดเริ่มต้นในการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของเขามาจากการที่เขาได้ไปพบกับทักษิณที่ประเทศฮ่องกง หลังจากนั้นได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปให้ทักษิณที่ต่างประเทศ

            พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ตอกย้ำว่า บุคคลที่หลบหนีโทษกบิลเมือง ไม่เคารพคำตัดสินของศาล ได้กระทำการร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้สั่งการผ่านพรรคเพื่อไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์และอำนาจของพวกตน ซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

            6) สมาชิกวุฒิสภาย่อมจะต้องได้รับทราบและพิจารณาเห็นกระบวนการเร่งรัด รวบรัดตัดตอน ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยมิชอบ เป็นการใช้อำนาจที่ฉ้อฉล ไร้คุณธรรม ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีภาพลักษณ์อัปยศอย่างที่สุด มีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดต่อหลักการของกฎหมายที่ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยขยายความครอบคลุมไปถึงคดีฆ่าทหาร ฆ่าประชาชน เผาบ้านเผาเมือง กระทำผิดกฎหมายอาญาแผ่นดินร้ายแรง รวมทั้งคดีของนักการเมืองทุจริตโกงกิน

            มีการใช้เสียงข้างมากในสภารวบรัดการพิจารณา ปิดปาก ส.ส.ฝ่ายค้าน ตัดสิทธิการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา และที่อัปยศอดสูที่สุด คือ การที่สภาผู้แทนราษฎรฉวยโอกาสใช้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยในสภารวบรัดตัดตอน ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ให้ผ่านสภาไปในช่วงเวลาที่ประชาชนเจ้าของประเทศกำลังหลับใหล ในเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง เป็นการกระทำเยี่ยงโจรยกเค้าบ้านเมือง

            7) สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่สังคมคาดหวัง ว่าจะเป็นผู้มีวุฒิภาวะสูง เป็นผู้มีอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจและอามิสสินจ้าง จะต้องรับฟังความอันแท้จริงของประชาชน ตัดสินใจบนฐานของผลประโยชน์ส่วนรวมและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ-นิติธรรมของบ้านเมือง ขณะนี้ได้เกิดกลุ่มบุคคล สถาบัน สมาคม ชมรมต่าง ๆ ออกมาแถลงความเห็นว่าไม่เห็นชอบต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างมากมาย สำนักวิจัยต่าง ๆ สำรวจตรงกันว่าประชาชนต่างไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ดังตัวอย่าง สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "บทบาทของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ร้อยละ 87.2 ไม่เชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นไปเพื่อสร้างความปรองดองของประเทศ เพราะคิดว่าเพื่อผลประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร

            ปวงชนชาวไทยในสภาวะปัจจุบัน คาดหวังในบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา ว่าจะเป็น "เสียงแห่งสติ" ของประเทศ มิใช่มีพฤติกรรมเฉกเช่นสภาผู้แทนราษฎรในยุคปัจจุบัน รัฐธรรมนูญและประชาชนได้ให้อำนาจวุฒิสภาในการกลั่นกรองกฎหมาย กลั่นกรองสติของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ขนาดในภาวะที่มีการยุบสภาได้มอบหมายให้วุฒิสภามีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ในนามรัฐสภาของราชอาณาจักรไทย

            สมาชิกวุฒิสภาจึงต้องมีความหาญกล้าที่จะแข็งขืน ทำหน้าที่ "ขัดขวางความไม่ถูกต้อง" แสดงออกให้คนไทยทั้งประเทศได้เห็นถึงวุฒิภาวะ ด้วยการคว่ำกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เพื่อรักษาความหวังต่อระบบรัฐสภาไทย และรักษาอนาคตทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยะประเทศ

แน่นอน ประวัติศาสตร์จะจารึกนามท่านทั้งหลาย

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นายสันติสุข มะโรงศรี
4 พ.ย.56







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจิมศักดิ์ โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. เตือนอย่าเป็นทาสสภาโจร โพสต์เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10:41:19 22,385 อ่าน
TOP