x close

คดีเขาพระวิหาร ศาลโลก ให้ ไทย-กัมพูชา ตกลงเรื่องเขตแดนเอง

คดีเขาพระวิหาร


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส, @MFAThai
 
            ศาลโลกยืนตามคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารปีั 2505 ให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ส่วนเขตแดนให้ไปตกลงกันเอง 2 ประเทศโดยมี UNESCO ดูแล ขณะที่ทูตวีรชัย ชี้ กัมพูชาไม่ได้ในสิ่งที่ร้องขอต่อศาล

            เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการ ศาลโลก ได้ออกนั่งบนบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารแล้ว โดยคณะผู้พิพากษาเริ่มต้นด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของไทย

            ซึ่งหลังจากนั้น ประธานศาลโลก ได้เริ่มต้นอ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชาได้ยื่นร้องขอให้ศาลโลกตีความคดีดังกล่าวในปี 2554 ตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 เรื่องข้อพิพาทในพื้นที่ใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยประธานศาลโลก ระบุว่า ศาลโลกมีมติรับคำร้องขอของกัมพูชาที่จะตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามรัฐธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 โดยให้พิจารณาตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย ซึ่งทำให้ศาลโลก ไม่อาจตีความเกินคำพิพากษาปี 2505 ได้

            และเมื่อย้อนกลับไปดูคำตัดสินปี 2505 พบว่า กรณีนี้เป็นประเด็นเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าการกำหนดเขตแดน โดยที่ศาลโลกมีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะข้อที่เป็นเหตุที่ไม่ใช่บทปฏิบัติการ และไม่ได้มีแนบในแผนที่ในคำพิพากษาปี 2505 ประกอบกับการนำเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางเยือนปราสาทพระวิหาร โดยมีทางการฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการยอมรับดินแดนทางอ้อม อีกทั้ง การที่คู่ความทั้งสองได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 ถูกบรรจุในสนธิสัญญา สำหรับการที่ขอตีความครั้งนี้ กัมพูชาระบุว่า ขอบเขตพื้นที่พิพาทเล็กมาก ขณะที่ศาลโลกเห็นพ้องว่าพื้นที่พิพาทนี้ก็เล็กมากเช่นกัน

            อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาปี 2505 ศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดน เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องการกำหนดอธิปไตยมากกว่ากำหนดดินแดน ดังนั้น ศาลโลกจึงเห็นว่า สมควรให้ไทยและกัมพูชาดำเนินการหารือกันเอง เพื่อร่วมรักษามรดกโลกแห่งนี้ให้คงไว้

            ทั้งนี้ หลังจากศาลโลกได้อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จากนั้น ในเวลา 17.35 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้แถลงข่าวว่า ทั้งสองฝ่ายรู้สึกพอใจกับคำพิพากษาของศาล ซึ่งหลังจากนี้จะไปหารือกับกัมพูชาในคณะกรรมาธิการร่วมฯ ต่อไป พร้อมกับให้ นายวีระชัย พลาศัย ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของฝ่ายไทยได้ชี้แจงต่อ

            โดย นายวีระชัย พลาศัย ทูตไทยที่เป็นตัวแทนไปสู้คดีเขาพระวิหาร ได้กล่าวว่า ศาลได้ตัดสินว่ามีอำนาจพิจารณาตีความตามคำร้องของกัมพูชา อย่างไรก็ตาม กัมพูชาไม่ได้รับในสิ่งที่มาร้องขอต่อศาล คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่ภูมะเขือ กัมพูชาไม่ได้ เพราะศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แต่ได้เน้นว่าเป็นพื้นที่เล็กมาก ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังคำนวณอยู่ ส่วนพื้นที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตรที่เป็นปัญหากันอยู่นั้น ศาลไม่ได้ตัดสินว่าผูกพันกับไทย ดังนั้นถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ๆ

            นอกจากนี้ นายวีระชัย ยังระบุด้วยว่า ศาลโลกได้แนะนำให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาร่วมกันดูแลเขาพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก

            ทั้งนี้ ศาลโลกได้เผยแพร่เอกสารคำพิพากษาและคำตัดสินคดีเขาพระวิหารเป็นภาษาอังกฤษแล้ว สามารถคลิกอ่านได้ที่ icj-cij.org

 

โฆษกสำนักนายกฯ แถลง นายกฯ สั่งตั้งวอร์รูมเกาะติดคดีเขาพระวิหาร

           เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความพร้อมของการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลกว่า ทางรัฐบาลได้ปรับปรุงห้องเขียวของตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ให้เป็นห้องวอร์รูมสำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และฝ่ายกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป คาดว่าศาลโลกจะใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 2 ชั่วโมง และทางนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะเป็นผู้รายงานสรุปคำตัดสิน จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีสำหรับการร่างแถลงการณ์ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เวลาประมาณ 18.45 น.


            โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การตั้งวอร์รูมในวันนี้จะติดตามสถานการณ์เขาพระวิหารอย่างเดียว ไม่มีการพูดถึงสถานการณ์การชุมนุม ภายหลังการตัดสินของศาลโลกแน่นอน นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามข่าวสารอย่างครบถ้วน รอบด้าน และขอย้ำว่า รัฐบาลจะรักษาอธิปไตยอย่างเต็มที่

            ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยว่า การที่กลุ่มธรรมายาตราเคลื่อนไหวที่ชายแดน จ.ศรีสะเกษ ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย โดยที่จะมีผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ เป็นผู้ชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และขอยืนยันว่า จะไม่มีการปะทะกันที่ชายแดนอย่างแน่นอน

            โฆษกกระทรวงต่างประเทศ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการสับสนในข้อมูล ตนจึงขอแนะนำให้ประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดและทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่กระทรวงต่างประเทศเตรียมเผยแพร่ และขอให้ประชาชนอย่างเพิ่งด่วนตัดสินใจอะไร ทั้งนี้ ประชาชนจะเข้าใจการพิพากษาคดีง่ายขึ้น เพราะนายวีรชัย ในฐานะผู้ต่อสู้คดี จะเป็นผู้แปลจากภาษากฎหมายมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย

            สำหรับการถ่ายทอดสดการตัดสินคดี สามารถรับชมผ่านโทรทัศน์เป็นภาษาไทยได้ที่ ช่อง 9 และช่อง 11 ส่วนช่องทางอื่น ๆ มีดังนี้

            เว็บไซต์ของศาลโลก (www.icj-cij.org/homepage)

            เฟซบุ๊กของกระทรวงต่างประเทศ (www.facebook.com/ThaiMFA)

            ทวิตเตอร์ของกระทรวงต่างประเทศ (www.twitter.com/mfathai)

            สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM92.5 และ AM891

            สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM88

            สถานีวิทยุ อสมท FM105.5

            สถานีวิทยุสราญรมย์ AM1575


 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คดีเขาพระวิหาร ศาลโลก ให้ ไทย-กัมพูชา ตกลงเรื่องเขตแดนเอง อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11:45:06 151,526 อ่าน
TOP