x close

อารยะขัดขืน คืออะไร ทำไมถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง

สุเทพ เทือกสุบรรณ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด, วิกิพีเดีย 

          อารยะขัดขืน เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองประเทศไทย มีที่มาที่ไปอย่างไร มาดูกัน

          ในช่วงนี้เรียกได้ว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยกำลังร้อนระอุทีเดียว ด้วยกระแสต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุม โดยเชิญชวนให้ประชาชนทำ "อารยะขัดขืน" ทั่วประเทศเพื่อเป็นการกดดันรัฐบาล งานนี้เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจคำว่า อารยะขัดขืน ว่ามีความหมายว่าอย่างไร และมีที่มาอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกันค่ะ

          สำหรับ อารยะขัดขืน (civil disobedience) แปลตามตัวคือ ประชาชนไม่เชื่อฟังรัฐหรือผู้มีอำนาจ จึงแสดงออกด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาต่าง ๆ ของรัฐ หรือก็คือการทำในสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้วว่าขัดต่อกฎหมาย แต่กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และประกาศล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อสู้ต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างสันติวิธี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายบางประการของรัฐบาล

          โดยหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญของ อารยะขัดขืน คือ การต่อสู้แบบอหิงสาของ มหาตมะ คานธี ซึ่งเป็นหลักการในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สมัยนั้นคานธีต่อต้านการปกครองที่ไม่ยุติธรรม โดยเหตุการณ์ที่สำคัญคือ อังกฤษได้สั่งห้ามคนอินเดียทำเกลือใช้เอง ทั้ง ๆ ที่ยุคนั้นเกลือมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการใช้ถนอมอาหาร นั่นก็เพื่อบังคับให้คนอินเดียต้องซื้อเกลือจากอังกฤษ และอังกฤษก็เพิ่มภาษีให้ชาวอินเดียต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น เรื่องนี้ ทำให้คานธีรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ อินเดียก็สามารถทำเกลือเองได้

มหาตมะ คานธี
มหาตมะ คานธี      

          คานธีจึงเริ่มทำการประท้วงแบบอหิงสา โดยคานธีและพวก 78 คนเริ่มเดินเท้าจากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi เมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างออกไป 240 ไมล์ เมื่อขบวนเดินผ่านเมืองใดก็จะมีชาวเมืองนับพันเข้าร่วมเดินด้วย จนขบวนยาวหลายไมล์ จนเมื่อคานธีเดินถึงที่หมาย เขาก็เริ่มกระทำอารยะขัดขืนด้วยการผลิตเกลือเองเพื่อท้าทายกฎหมาย ทุกคนก็ทำตาม การกระทำของคานธีกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ชาวอินเดียพากันเลียนแบบผลิตและขายเกลือกันอย่างไม่กลัวกฎหมาย ก่อนที่คานธีจะถูกจับพร้อมกับประชาชนนับหมื่น

          หลังจากที่คานธีถูกจับ ประชาชนชาวอินเดียก็เฝ้าติดตามและลุกฮือหยุดงานทั่วประเทศจนอังกฤษคุมสถานการณ์ไม่ได้และต้องเชิญคานธีไปเจรจา จนในที่สุดอังกฤษต้องยอมแก้กฎหมายให้คนอินเดียสามารถทำเกลือใช้เองได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า The Salt March ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ก่อนนำไปสู่ชัยชนะในการปลดแอกจากมหาอำนาจอย่างอังกฤษ

          สำหรับในประเทศไทยก็เคยมีการนำหลักการอารยะขัดขืนมาใช้เช่นกันในปี 2549 ในเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้ "ไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในไทย ปี 2549" เนื่องจากเห็นว่าการยุบสภาของรัฐบาลทักษิณทำไปเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปราย นอกจากนี้รัฐมนตรียังไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนต่อประชาชนได้ จึงต้องยุบสภาเพื่อไม่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกตรวจสอบเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนมากขึ้นอันจะเป็นผลเสียต่อตนเอง

          ต่อมาเริ่มมีการรณรงค์โดยภาคประชาชน เช่น มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) และเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญและแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และกลุ่มนักศึกษารักประชาชน ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ร่วมกัน "กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน" เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ ทักษิณ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

          นอกจากนี้ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังทำการฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 พร้อมกับให้เหตุผลว่าการยุบสภาและการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม โดยยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งและพร้อมสู้คดีในทางกฎหมาย โดยขอยืนยันสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี และศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2553 (3)

ดร.ไชยันต์ ไชยพร
ดร.ไชยันต์ ไชยพร

          ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อารยะขัดขืน เป็นการกระทำที่มุ่งแก้ไขความบกพร่องบางประการที่ดำรงอยู่ในสังคม โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธต่อระบบกฎหมายหรือการปกครองโดยรวม หากยอมรับว่าระบบการเมืองโดยรวมยังคงมีความยุติธรรมเป็นหลักพื้นฐานอยู่ การกระทำอารยะขัดขืนเกิดขึ้นก็เพื่อทำให้ระบบการปกครองที่มีอยู่นั้นมีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

          การกระทำเช่นนี้จึงต่างไปจากการก่อการร้ายหรือการก่อวินาศกรรมซึ่งกลุ่มผู้กระทำปฏิเสธต่อความชอบธรรมของระบบการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเป้าหมายจึงเป็นการมุ่งล้มล้างระบบการเมืองให้เปลี่ยนไปจากเดิม




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อารยะขัดขืน คืออะไร ทำไมถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12:11:54 54,036 อ่าน
TOP