x close

นพดล แถลง 9 ข้อ ชี้ คำพิพากษาศาลโลก ช่วยพ้นข้อหาขายชาติ


นพดล ปัทมะ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Noppadon Pattama

          นพดล ชี้ คำพิพากษาศาลโลกช่วยตัวเองพ้นข้อหาขายชาติ เพราะเห็นแล้วว่า ไทยไม่เสียดินแดน พร้อมแถลง 9 ข้อ ย้ำ รัฐบาลสมัครปกป้องดินแดน ขออโหสิกรรมให้คนใส่ร้ายป้ายสี

          วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2556) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แถลงที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงคดีเขาพระวิหารว่า ที่ผ่านมาตนเองถูกกล่าวหามาตลอดว่าขายชาติ ถูกใส่ร้ายมากว่า 6-7 ปี แต่คำตัดสินของศาลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนรู้แล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำนั้น เป็นการปกป้องแผ่นดิน ไม่ได้ขายชาติ เพราะพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ได้ตกเป็นของกัมพูชา

          ทั้งนี้ นายนพดล ระบุด้วยว่า ตนเองเคยชี้แจงที่ถูกใส่ร้ายไปแล้ว แต่ก็ไม่ฟัง เมื่อคำตัดสินศาลออกมา ประชาชนถึงได้เข้าใจ จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดโกหกเรื่องปราสาทพระวิหารได้แล้ว โดยจากคำตัดสินของศาลได้ทำให้ความจริงปรากฏ ดังนี้

          1. คำตัดสินยืนยันชัดเจนว่า ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชามา 51 ปีแล้วตามที่ศาลโลกตัดสินในปี 2505 ดังนั้น ไทยไม่ได้เสียอะไรเพิ่มจากที่เสียในปี 2505

          2. ปี 2549 ช่วงรัฐบาล คมช. กัมพูชายื่นเอาตัวปราสาทพระวิหาร บวกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก

          3. ปี 2551 รัฐบาลสมัคร ที่มีตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศได้คัดค้านและบังคับให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ออก และห้ามไม่ให้นำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก พร้อมกับขอให้กัมพูชาต้องยื่นแผนผังตัวปราสาทใหม่ แทนแผนที่ที่รุกล้ำพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ที่ยื่นไว้ในปี 2549 จนสามารถขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น

          ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่เล็กกว่าเส้นรั้วลวดหนามตามเส้นมติ ครม. เสียอีก โดยไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน ตามที่ระบุใน ข้อ 9 ของมติคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 (7 กรกฎาคม 2551) ว่า บันทึกว่าทรัพย์สินที่เสนอสำหรับขึ้นทะเบียนได้รับการลดขนาดและประกอบเพียงปราสาทพระวิหาร และไม่รวมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผา และถ้ำต่าง ๆ

          4. คำตัดสินศาลโลกครั้งนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เฉพาะตัวปราสาท และไม่รวมพื้นที่พิพาทไทยกัมพูชา (พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.) ตามย่อหน้า 27 ของคำตัดสินศาลโลกว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจที่จะขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ตาม "แผนผังของทรัพย์สินที่แก้ไขใหม่" ซึ่งไม่รวมพื้นที่ที่พิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา

          5. คณะทนายความผู้ต่อสู้คดี รวมถึงศาสตราจารย์เปลเล่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระดับโลก ที่มีนายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำ กรุงเฮก เป็นหัวหน้า ต้องการใช้คำแถลงการณ์ร่วมของตนในการต่อสู้คดี

          6. สรุปว่า คำตัดสินของศาลโลกได้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า คำแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ แต่ได้ช่วยปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไม่ให้ตกเป็นของกัมพูชา

          7. ตนขออโหสิกรรมนักการเมืองที่ใส่ร้ายตนมาตลอด 5 ปี ทั้ง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และนายศิริโชค โสภา เพราะตอนนี้ความจริงปรากฏแล้ว แม้จะใช้เวลานานก็ตาม

          8. คำพิพากษาศาลโลกจะทำให้การบิดเบือนใส่ร้ายทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนเข้าใจแล้วว่าฝ่ายใดทำอะไรไว้ ใครใช้ประเด็นปราสาทพระวิหารมาล้มรัฐบาลสมัคร และใส่ร้ายตนมาตลอด 5 ปี และใครคือผู้ปกป้องดินแดน

          9. ขอเรียกร้องให้ฝ่ายต่าง ๆ หยุดวิจารณ์คำตัดสินศาลโลกเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยควรให้ข้าราชการมืออาชีพทำงาน ทุกฝ่ายต้องเลิกสร้างปัญหา แต่ควรร่วมมือแก้ปัญหา




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นพดล แถลง 9 ข้อ ชี้ คำพิพากษาศาลโลก ช่วยพ้นข้อหาขายชาติ อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:29:52 8,177 อ่าน
TOP