x close

เปิดตำนานราชวงศ์ ราชอาณาจักร






เปิดตำนานราชวงศ์ ราชอาณาจักร"จิกมี"

          ภูฏานตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ติดกับทิเบตทางตอนเหนือ อินเดียและอัสสัมทางภาคใต้ เบงกอลและสิกขิม ทางตะวันออก ทางตอนใต้ และทางตะวันตก มีพื้นที่ 46,500 ตารางกิโลเมตร เฉพาะส่วนกลางของประเทศเท่านั้นที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทิมปุเมืองหลวงของภูฏาน ตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา ความสูงประมาณ 7,700 ฟิต

           แบ่งออกตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ได้สามส่วน คือ พื้นที่สูงทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย, พื้นที่ภูเขาขนาดย่อมและหุบเหวลึกทางภาคกลาง และพื้นที่ราบสูงทางภาคใต้ ชาวภูฏานเป็นพุทธศาสนิกชนนิกายมหายานที่เคร่งครัด การล่าสัตว์ทุกชนิดถือว่าผิดกฎหมาย เนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารในชีวิตประจำวันนั้นล้วนเป็นเนื้อที่มาจากสัตว์เลี้ยงทั้งสิ้น

          องค์การสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องให้เป็นประเทศหนึ่งในสิบของโลก ที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้อย่างดีเลิศ ปัจจุบันมีนกหายากถึง 770 ชนิด อาศัยอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรของประเทศ

           พื้นที่ส่วนใหญ่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ จากการละลายของหิมะกลายเป็นกระแสน้ำไหลริน ลงมาจากยอดเขาตลอดปี เป็นบ่อเกิดแห่งแม่น้ำใหญ่หลายสาย และทะเลสาบน้ำจืดหลายต่อหลายแห่ง ทำการเกษตรได้อย่างพอเพียง และยังผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ขายให้กับประเทศอินเดียได้อีกด้วย

           ตำนานโบราณเล่าว่า ขณะที่มีการสร้างสถูปองค์แรกขึ้นในภูฏานนั้น ได้ยินเสียงมังกรคำรามก้องอยู่เหนือท้องฟ้า จึงเชื่อว่าประเทศของตนเป็นดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า กษัตริย์ล้วนสืบเชื้อสายมาจากมังกรสายฟ้า จึงเรียกพระราชาธิบดีว่ากษัตริย์แห่งมังกรสายฟ้าสืบมาแต่บัดนั้น

           น่าเสียดายที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในสมัยโบราณของภูฏานเกือบทั้งหมด สูญหายไปในกองเพลิง เนื่องจากเกิดไฟไหม้ขึ้นหลายครั้งในพระอาราม ซึ่งเป็นที่เก็บจารึกและใบลานโบราณถึงสามครั้งระหว่าง ปี พ.ศ. 2371, 2375 และ 2436 

          ในปี 2436 นั้นได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขึ้นอีกด้วย เอกสารสำคัญที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของประเทศจึงสูญหายไปในกองเพลิงเกือบหมดสิ้น หลักฐานที่ใช้ในปัจจุบันเป็นหลักฐานที่รวบรวมได้จากนิทานพื้นบ้าน ตำนานเก่าแก่ที่เล่าสืบทอดกันมานมนาน และจากการบันทึกของนักสำรวจชาวตะวันตกในสมัยต่อมา

          ตำนานระบุว่า ในปี พ.ศ. 1240 คุรุ ริมป็อค ( Guru Rimpoche ) ชาวอินเดีย เดินทางเข้ามาในภูฏานหลายครั้ง คุรุ หรือ ครู ริมป็อคเป็นผู้นำพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เข้ามาเผยแผ่เป็นคนแรกและสามารถนำเอาการปฏิบัติทางศาสนาเข้าไปผสมผสานลัทธิความเชื่อถือแบบโบร่ำโบราณของคนพื้นเมืองได้สำเร็จ ทำให้ได้รับความเคารพจากชาวภูฏาน ในฐานะพระพุทธเจ้าองค์ที่สองมาจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย

          ประวัติศาสตร์สมัยกลางของภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-14 เกิดสงครามชิงความเป็นใหญ่ ระหว่างหัวหน้าเผ่าและหัวหน้าชุมชน และสงครามต่อต้านการรุกรานของทิเบตเป็นส่วนใหญ่ ในพุทธศตวรรษที่ 14 ลามะชาวทิเบต ชื่อ ซับดรุง งาวัง นัมก์ยาล เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายมหายาน ในภูฏาน และปฏิรูประบบการปกครอง ตั้งตนขึ้นเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางฝ่ายบริหาร

          ภูฏานอยู่ภายใต้ศาสนจักรอย่างยาวนานจนพุทธศตวรรษที่ 24 จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พื้นที่ของประเทศแบ่งออกเป็นมณฑล ผู้ว่าการมณฑลแต่ละแห่งขึ้นตรงต่อศาสนจักร และได้แยกตัวตั้งเป็นมณฑลอิสระไม่ขึ้นแก่ใคร

          ในบรรดาผู้ว่าการมณฑลดังกล่าวนี้ ผู้ว่าการ อุคเยน วังชุก แห่งมณฑลปาโรและมณฑลทิมปุ เป็นผู้นำที่โดดเด่น ประชาชน, ตัวแทนของศาสนจักร, ข้าราชการและตัวแทนของชนเผ่าพื้นเมืองของภูฏาน ได้เลือก อุคเยน วังชุกเป็นกษัตริย์แห่งมังกรสายฟ้า ( Druk Gyalpo) ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

          พระราชาธิบดี อุคเยน วังชุก สถาปนา ราชวงศ์วังชุก ขึ้นอย่างเป็นทางการใน วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2440 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภูฏานมีผู้นำเป็นสามัญชน ไม่ใช่พระลามะจากศาสนจักร วันที่ 17 ธันวาคม เป็นวันชาติของภูฏานมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

         เมื่อพระราชาธิบดีพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ลงเมื่อปี 2469 เจ้าชายจิกมี วังชุก พระโอรสองค์โตได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา นับเป็นพระราชาธิบดีองค์ที่ 2 เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 2495 เจ้าฟ้าชายจิกมี ดอร์จิ วังชุก พระโอรสองค์โตขึ้นครองราชบัลลังก์ เป็นกษัตริย์มังกรสายฟ้าองค์ที่ 3 
 
         แม้ว่าช่วงเวลาของกษัตริย์องค์ที่ 3 ค่อนข้างสั้น แต่ผลงานในการปฏิรูปการปกครองนั้น นับว่าโดดเด่นและเป็นที่ยกย่อง จนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งภูฏานสมัยใหม่ (Father of Modern Bhutan ) เปิดประเทศมากขึ้น และสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2514 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี 2515

         เจ้าชายมกุฎราชกุมารจิกมี ซิงเย วังชุก พระชนมายุเพียง 17 ชันษา ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 ได้เจริญรอยตามพระบิดา ทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมกันบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อใช้ในการปกครองประเทศ

         รัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของภูฏาน ให้กษัตริย์ให้อยู่ใต้กฎหมาย และเมื่อมีพระชนมายุครบ 65 ชันษา ต้องสละราชบัลลังก์ให้แก่มกุฎราชกุมารสืบทอดต่อไป พระองค์ได้ประกาศว่า จะสละราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าฟ้าชายมกุฎราชกุมารในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย อภิเษกสมรสกับธิดา 4 คน ของ ฯพณฯ ยับ อุคเยน ดอร์จิ องคมนตรี และได้สถาปนาพระมเหสีทั้ง 4 เป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรภูฏานพร้อมกันในปี 2531

          ในตอนแรกสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี่ ซิงเย ประสงค์ที่จะอภิเษกสมรสกับท่านผู้หญิงอัสชิ ดอร์จิ วังโม เพียงผู้เดียว แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจากคณะองคมนตรี ว่าการอภิเษกสมรสกับเจ้าสาวหลายคนน่าจะเป็นหลักประกันในเรื่องรัชทายาท เพื่อความมั่นคงของราชบัลลังก์

          จึงได้ตัดสินพระทัยสู่ขอธิดาทั้ง 5 คน ของฯพณฯ ยับ อุคเยน ดอร์จิ ฝ่ายท่านบิดาได้ถามความสมัครใจ ปรากฏว่ามีธิดาคนสุดท้อง ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเพียงผู้เดียวที่ไม่ขอสละความเป็นโสด พิธีสมรสครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 และภายหลังจากประสูติพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ จึงได้มีพิธีอภิเษกสมรสอย่างเป็นทางการ ทั้ง 4 พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระราชินี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531

          ในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสและการสถาปนาพระราชินีทั้ง 4 พระองค์นี้ มีแขกมาร่วมเป็นสักขีพยานหลายพันคน ประชาชนจัดงานเฉลิมฉลองกันถึง 3 วัน 3 คืน ทั่วประเทศ ในปี 2523 พระราชินี 2 พระองค์ประสูติพระโอรสและพระธิดาเกือบจะพร้อมกัน พระราชินีองค์ที่ 3 ให้ประสูติกาลแก่ เจ้าชาย จิกมี เคเซอร์ นัมเกล ส่วนพระราชินีองค์ที่ 1 ให้ประสูติกาลแก่เจ้าหญิง

          สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระโอรสและพระธิดาในปัจจุบันรวม 10 พระองค์ด้วยกัน โดยมีเจ้าชายมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นองค์โตและเป็นองค์รัชทายาท

          นางเพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา อดีตส.ว.สกลนคร ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิฝนหยาดเดียว ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งร่วมกับสามี นายฟรานซ์ บี โฮวิตซ์ อดีตเอกอัคราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย ( ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ) ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กเล็กและเด็กด้อยโอกาส

          ขณะทำหน้าที่กรรมาธิการการสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา นางเพ็ญศักดิ์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก และพระราชินีอัสชิ ดอร์จิ วังโม วังชุก แห่งภูฏาน เมื่อพระราชินีภูฏานทราบว่า นางเพ็ญศักดิ์เป็นประธานมูลนิธิฝนหยาดเดียว จึงขอคำปรึกษา เพราะพระองค์ทรงเป็นประธานมูลนิธิธารายานา ที่ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในภูฏานเหมือนกัน ทำให้นางเพ็ญศักดิ์มีโอกาสถวายงาน และเป็นที่ปรึกษาให้มาจนถึงปัจจุบัน

           นางเพ็ญศักดิ์เดินทางไปภูฏานปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เพื่อเข้าเฝ้าพระราชินีและถวายงาน ช่วงที่เจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เสด็จร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสด็จกลับภูฏาน พระราชินีทรงส่งอีเมล์มาถึงว่า ราชวงศ์ภูฏานปลื้มใจและดีใจมาก ที่คนไทยประทับใจในเจ้าชายจิกมี ถึงกับแซวเจ้าชายเวลาเสวยพระกระยาหารร่วมกันว่า อย่าทรงละทิ้งภูฏาน ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่เมืองไทยเพราะหลงสาวไทยแล้วกัน

          สำหรับภาพถ่ายปริศนาเจ้าชายจิกมีกับหญิงสาว นางเพ็ญศักดิ์ได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นภาพของเจ้าหญิง ซึ่งเป็นน้องสาวต่างพระมารดาของเจ้าชายจิกมี ที่มีพระชนมายุห่างกันแค่ 3 เดือน ในเดือนก.ย.นี้ นางเพ็ญศักดิ์จะตามเสด็จพระราชินีอัสชิไปเดนมาร์กเป็นเวลา 1 เดือน ในฐานะอดีตภริยาทูตซึ่งเป็นชาวเดนมาร์ก และรู้จักประเทศเดนมาร์กดี




ข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำนานราชวงศ์ ราชอาณาจักร อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2554 เวลา 15:47:41 17,171 อ่าน
TOP