x close

พ.ร.บ.ความมั่นคง คืออะไร ไขข้อสงสัยกฎหมายพิเศษคุมม็อบ


พ.ร.ก.ฉุนเฉิน กับ พ.ร.บ.มั่นคง ต่างกันตรงไหน มาดูกัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

 
          พ.ร.บ.ความมั่นคง คืออะไร มีรายละเอียดและข้อห้ามอย่างไรบ้าง มาไขข้อสงสัยกฎหมายพิเศษที่มักมีการประกาศใช้ช่วงการชุมนุม หรือในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์ไม่ปกติ
 
          ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ได้ยึดสถานที่หน่วยราชการต่าง ๆ เช่น กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ส่งผลให้ช่วงค่ำวันเดียวกัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตามมาตรา 15 ในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี, อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุอยู่ในขณะนี้
 
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนจะคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อยู่บ่อย ๆ แต่ก็อาจจะยังไม่ทราบถึงรายละเอียดที่แท้จริงของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ดังนั้น เราจะมาขยายความเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับที่กำลังประกาศใช้อยู่ในขณะนี้กัน
 
          พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีชื่อเต็ม ๆ ว่า พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ โดยเหตุผลหลักในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ ต้องการป้องกันและปราบปรามสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อาทิ การชุมนุมที่มีแนวโน้มยกระดับความรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรื่องนี้ โดยการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะกำหนดพื้นที่ที่ประกาศใช้ และระยะเวลาที่ใช้เอาไว้ พร้อมกับกำหนดข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด, ห้ามใช้เส้นทางที่กำหนด เป็นต้น หากใครฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษที่ชัดเจน จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
พ.ร.บ.ความมั่นคง

สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีทั้งหมด 3 หมวด 26 มาตรา ดังนี้
 
          มาตรา 1-4 จะเป็นบทบัญญัติเบื้องต้นเกี่ยวกับคำนิยามของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ วันที่เริ่มบังคับใช้ และมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรี รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้
 
หมวด 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
 
          ในหมวดนี้ ประกอบไปด้วยมาตรา 5-14 มีรายละเอียดในการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.)
 
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. กำหนดไว้ในมาตรา 7 ดังนี้

          1. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคง และรายงานคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไป

          2. มีอำนาจในการกำหนด เสนอแผน ในการปฏิบัติงานเพื่อรักษาความมั่นคง

          3. ปฏิบัติงานตามแผนในข้อ 2

          4. เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สร้างความสามัคคีแก่คนในชาติ

          5. ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือคณะรัฐมนตรี, สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
 
          นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง กอ.รมน.ภาค หรือ กอ.รมน.จังหวัด เพื่อรับผิดชอบความมั่นคงในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย โดย กอ.รมน.ภาค จะมีแม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค (ผอ.รมน.ภาค) และมี กอ.รมน.จังหวัด อีกชั้นหนึ่ง อยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด)
 
พ.ร.บ.ความมั่นคง

หมวด 2 ภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
 
          ในหมวดนี้ ประกอบไปด้วยมาตรา 15-23 มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
 
          มาตรา 15 เป็นการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของ กอ.รมน. ในสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ กอ.รมน. รับผิดชอบในพื้นที่หนึ่ง ๆ ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด
 
มาตรา 16 จะเป็นขั้นตอนของ กอ.รมน. ตามมาตรา 15 ได้แก่

          1. ป้องกัน ปราบปราบ ยับยั้งเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง ตามที่ได้รับมอบหมายในมาตรา 15

          2. จัดทำแผนตามข้อ 1 เสนอต่อกรรมการเพื่อขอความเห็นชอบ เช่น สมช.

          3. ดำเนินการ ติดตามให้แผนเป็นไปตามข้อ 2

          4. สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือเป็นอุปสรรค ออกจากพื้นที่ที่กำหนด
 
          มาตรา 17 หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ในมาตรา 16 สามารถจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานในชื่ออื่นเป็นการเฉพาะได้
 
มาตรา 18 เป็นข้อกำหนดเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขเหตุการณ์ตามพื้นที่มาตรา 15 ได้แก่

          1. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด

          2. ห้ามเข้าหรือออกจากพื้นที่ อาคาร สถานที่ที่กำหนด ในห้วงเวลาปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

          3. ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด

          4. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

          5. ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ที่ได้ประกาศเอาไว้

          6. ให้บุคคลปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันอันตรายที่เกิดต่อชีวิต ทรัพย์สิน ประชาชน
 
          อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 20 ก็ระบุไว้ว่า หาก กอ.รมน. ก่อความเสียหายแก่ประชาชนผุ้สุจริต กอ.รมน. ต้องชดเชยค่าเสียหายตามควรแก่กรณี
 
          นอกจากนี้ มาตรา 21 ระบุอีกด้วยว่า หากผู้กระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ถูกสอบสวน กระทำไปเพราะหลงผิดหรือคาดไม่ถึง ศาลสามารถสั่งให้เข้าอบรม ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ไม่เกิน 6 เดือน พร้อมกับกำหนดเงื่อนไข และเมื่ออบรมแล้ว คดีที่ฟ้องผู้กระทำความผิดก็เป็นอันระงับไป
 
          ปิดท้ายที่มาตรา 23 การดำเนินคดีต่าง ๆ ตามหมวดนี้ ให้อยู่อำนาจศาลยุติธรรม
 
พ.ร.บ.ความมั่นคง

หมวด 3 บทกำหนดโทษ
 
          มีเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 18 ข้อ 2,3,4,5 หรือ 6 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
          ขณะที่มาตรา 25-26 จะอยู่ในบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับการโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ ฯลฯ จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว และ การให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็น ศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานอื่นที่จัดตั้งตามมาตรา 17
 
          เมื่อทำความเข้าใจใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เบื้องต้นกันไปแล้ว ลองมาดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ประกาศใช้ล่าสุดกันบ้าง โดยการประกาศครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2556 ยกเว้นพื้นที่เขตดุสิต (เฉพาะแขวงดุสิตและจิตรลดา) เขตพระนคร (เฉพาะแขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม และแขวงบางขุนพรหม) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (เฉพาะแขวงวัดโสมนัส) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม-31 ธันวาคม 2556 เนื่องจากต่อยอด พ.ร.บ. ฉบับเดิม ที่ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม-30 พฤศจิกายนนั่นเอง
 

          ส่วนข้อห้ามต่าง ๆ ใน พ.ร.บ. นี้ ราชกิจจานุเบกษาระบุไว้ว่า ให้เป็นไปตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
พ.ร.บ.ความมั่นคง

พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
 
          หากเปรียบกันแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กับสถานการณ์ที่รุนแรง คับขันเร่งด่วนกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เช่น สถานการณ์การชุมนุมที่วิกฤติ หรือในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศก่อนที่จะถูกรัฐประหาร เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศไปก่อน ค่อยขอความเห็นชอบในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้ที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือทหารร่วมกันทำหน้าที่ ไม่ใช่ กอ.รมน. เหมือนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และอำนาจทุกอย่างจะโอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว
 
          ส่วนข้อกำหนดหรือข้อห้ามก็จะรุนแรงกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เช่นกัน อาทิ ห้ามมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือห้ามเสนอข่าวที่อาจจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรืออยู่ในความไม่สงบ เป็นต้น ระยะเวลาที่ประกาศใช้ ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เหมือนกันก็คือ มีการกำหนดพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชัดเจน
 
          อ่านถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านก็คงเข้าใจถึงรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มากขึ้น ว่ามีอำนาจอย่างไรบ้าง ใช้กับสถานการณ์แบบไหน ส่วนการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะมีการเลิกใช้เมื่อใด ก็คงต้องดูสถานการณ์ความร้อนแรงของการเมืองไทยเป็นหลัก
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- parliament.go.th



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ.ร.บ.ความมั่นคง คืออะไร ไขข้อสงสัยกฎหมายพิเศษคุมม็อบ อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2557 เวลา 18:07:04 55,007 อ่าน
TOP