x close

ศาลชี้ 3 การ์ด นปช. - ผู้ชุมนุม ตายจากกระสุนปืน แต่ไม่ทราบคนยิง


ศาลชี้ 3 การ์ด นปช. - ผู้ชุมนุม ตายจากกระสุนปืน แต่ไม่ทราบคนยิง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ศาลอาญา มีคำสั่ง 3 การ์ด นปช. - ผู้ชุมนุม ตายจากกระสุนปืน แต่ไม่ทราบใครเป็นคนลงมือ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 53 ที่สวนลุมพินี

          วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2556) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง มีการอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ ช.3/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 1, นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ผู้ตายที่ 3 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลุมพินี ขณะที่มีการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

          ศาลได้พิเคราะห์พยานต่าง ๆ จนรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา เลือกตั้งใหม่ โดยที่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ผู้ตายทั้งสามคนได้เสียชีวิต มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 23 รักษาพระองค์ พร้อมอาวุธปืนปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนพระราม 4 ด้านสวนสาธารณะลุมพินี ฝั่งสน.ลุมพินี ซึ่งผู้ตายได้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเพื่อนที่เป็นการ์ด นปช. เข้าไปในสวนสาธารณะ ระหว่างแยกสำรวจกับเพื่อน กระสุนก็ยิงมาที่ผู้ตายที่ 1 ทันที ทำให้เสียหลักล้มลง ก่อนยิงซ้ำระหว่างหลบหนี จนถึงแก่ชีวิตที่ริมสระน้ำด้านหลังหอนาฬิกา

          ส่วนผู้ตายที่ 2 พบศพบนพื้นสนามหญ้าใกล้สระน้ำภายในสวนสาธารณะลุมพินี ห่างจากจุดที่พบศพผู้ตายที่ 1 ประมาณ 100 เมตร คาดว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตายทั้งสองมาจากฝั่งถนนวิทยุหรือถนนพระราม 4 ขณะที่ผู้ตายที่ 3 มีพยานเบิกความว่า ขณะที่ผู้ตายที่ 3 ยืนอยู่หน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ก็ได้ยินเสียงปืนดังจากฝ่ายตรงข้าม และเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยิงเอ็ม 16 ใส่ผู้ชุมนุม ดังนั้น ผู้ตายที่ 3 และเพื่อนจึงหลบหนีไปทางหลังพระบรมรูป ซึ่งทางเพื่อนผู้ตายที่ 3 ได้วิ่งไปหลบหนีหลังรถกระบะ และได้เรียกผู้ตายให้วิ่งตามมา แต่ผู้ตายที่ 3 ไม่ตอบรับ ก่อนที่จะได้ยินเสียงปืนอีกครั้ง และผู้ตายที่ 3 ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว

          ทั้งนี้ ผลจากการชันสูตรศพ พบว่า ผู้ตายที่ 1 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 นิ้ว หรือ 5.56 มิลลิเมตร ทำลายเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอ, ผู้ตายที่ 2 ถูกกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงทะลุหัวใจและตับ ทำให้เสียเลือดมาก และผู้ตายที่ 3 ถูกยิงด้วยกระสุนขนาดเดียวกับผู้ตายที่ 1 มีวิถีกระสุนจากด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ด้านถนนราชดำริ หรือถนนพระราม 4 ในแนวราบ

          ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 3 รายตายภายในสวนสาธารณะลุมพินี เมือวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 โดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลชี้ 3 การ์ด นปช. - ผู้ชุมนุม ตายจากกระสุนปืน แต่ไม่ทราบคนยิง อัปเดตล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:17:40 4,319 อ่าน
TOP