x close

รสนา อัดรัฐบาลเหตุผลฟังไม่ขึ้น หลังอ้างไม่เกี่ยวข้องไม่รับอำนาจศาล

 รสนา อัดรัฐบาลเหตุผลฟังไม่ขึ้น หลังอ้างไม่เกี่ยวข้องไม่รับอำนาจศาล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล
 
          รสนา โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ชี้ เหตุผลที่บอกว่าไม่เกี่ยวข้องการไม่ยอมรับศาล รธน. ฟังไม่ขึ้น เหตุ ส.ส. ลงคะแนนส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล และหากรัฐยังไม่ฟังศาล ก็อย่าหวังประชาชนจะเชื่อฟัง

          วันนี้ (2 ธันวาคม 2556) เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ของนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงว่า แถลงการณ์ที่ทางรัฐบาลบอกว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. แต่เป็นทางรัฐสภาต่างหากที่ไม่ยอมรับ และประชาชนหมดเงื่อนไขการชุมนุมแล้ว หลังจากที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตกไป สิ่งที่รัฐบาลระบุมา เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก คนที่ลงคะแนนส่วนใหญ่ ก็เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้นจึงไม่สามารถตัดความเชื่อมโยงทิ้งไปได้ นอกจากนี้ เมื่อศาลตัดสินว่าผิด ก็ไม่ยอมขอพระราชทานคืนร่างรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจศาลเช่นกัน จึงถือว่าเป็นกบฏ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมฟังศาลรัฐธรรมนูญ ก็อย่าหวังว่าประชาชนจะยอมทำตามรัฐบาล

สำหรับข้อความทั้งหมดของนางสาวรสนา มีดังนี้

"จดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี

(ฉบับที่ 4)

          จากการแถลงการณ์ของรัฐบาลโดยท่านรองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ในค่ำวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เพื่อชี้แจงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ดังนี้

          1) ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาของ ส.ว นั้น รัฐบาลขอแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ใด ๆ หรือมีการแสดงใด ๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาล

          2) เรื่องร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เป็นประเด็นเริ่มต้นในการชุมนุมคัดค้านรัฐบาล และรัฐสภา นั้นไม่ใช่ร่างของคณะรัฐมนตรี แต่เป็นร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ แยกออกจากอำนาจฝ่ายบริหาร และขณะนี้เมื่อสมาชิกวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว ทางสภาผู้แทนราษฎรก็จะไม่สนับสนุนร่างฯ ฉบับนี้ต่อไป ถือได้ว่าร่างฯ ฉบับนี้ตกไป ไม่มีโอกาสบังคับใช้แน่นอนแล้ว

          ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการดังกล่าว ท่านรองนายกฯ ก็ทึกทักเอาว่าประชาชนไม่มีเงื่อนไขที่จะชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอีกแล้ว การที่ประชาชนยังไม่ยุติการชุมนุมจึงเป็นการส่อนัยว่าประชาชนถูกชักจูง หรือใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

ข้ออ้างในแถลงการณ์ของรัฐบาลในสายตาประชาชนขาดน้ำหนัก และฟังไม่ขึ้น เพราะ

          1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากก็เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็นสมาชิกอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และในการลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของ ส.ว. นายกรัฐมนตรีก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของท่านที่ว่าการไม่ยอมรับอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่รัฐบาลจึงไม่อาจรับฟังได้

          2) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกฯ เป็นลูกพรรคได้เปิดแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคประกาศไม่รับอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การที่ท่านนายกรัฐมนตรี และตัวท่านเองก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค และเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล คำแถลงของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารจึงผูกพันสมาชิกพรรคทุกคน

          3) ข้อกล่าวอ้างของท่านที่ว่า รัฐบาลไม่เคยมีแถลงการณ์ หรือมีการแสดงใด ๆ ที่เป็นการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แต่ก็ไม่เคยมีคำแถลงจากปากของท่านนายกรัฐมนตรี ว่ายอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังเมื่อนักข่าวถามท่านนายกฯ ถึงเรื่องนี้ ท่านตอบว่ากำลังให้กฤษฎีกาพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลชัดเจนอยู่แล้ว หรือว่าท่านนายกฯ เห็นว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาเหนือกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อไหร่จึงจะได้คำตอบจากกฤษฎีกาที่จะทำให้ท่านนายกฯ มั่นใจว่าจะทำตาม หรือไม่ทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

          แต่พฤติกรรมที่เป็นเครื่องแสดงว่าท่านนายกฯ ยังไม่ยอมรับอำนาจการวินิจฉัยของศาล ก็คือการไม่ขอพระราชทานคืนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ

          การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยอ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในพระบรมวินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด (หากไม่ใช่ความจงใจ) ที่ประชาชนไม่อาจให้อภัยได้ เพราะในความเป็นจริงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด

          ในเมื่อคำกล่าวอ้างของท่านไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของประชาชนว่ารัฐบาลของท่านเป็นกบฏต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนจึงใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงในการต่อต้านการกระทำอันเป็นกบฏของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากที่ท่านแถลงการณ์ ประชาชนกลับจะรวมตัวกันต่อต้านท่านมากขึ้น ไม่ใช่เพราะถูกชักจูงโดยแกนนำหรือพรรคการเมืองใด แต่เป็นเพราะหมดความไว้วางใจรัฐบาลที่ขาดความสำนึกขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดดังเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ แม้แต่สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่อย่าง นสพ.ไทยรัฐ ที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ก็ยังมีบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ชื่อ "ทรราชข้างมาก" เนื้อความตอนหนึ่งว่า

          "ระบบพรรคการเมืองของไทยยังไม่เป็น 'พรรค' การเมืองที่แท้จริงเหมือนกับ นานาอารยประชาธิปไตย ไม่ใช่พรรคของมวลชน บางพรรคไม่ได้เป็นแม้แต่พรรคของสมาชิกหรือ ส.ส แต่เป็นพรรคของนายทุน ส.ส. เป็นคล้ายกับพนักงานบริษัทต้องออกเสียงลงประชามติตามคำสั่งเจ้าของพรรค จึงไม่อาจตรวจสอบรัฐมนตรีที่เป็นระดับผู้ใหญ่ของพรรค

          ดังนั้นตราบใดที่รัฐบาล "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เชื่อฟังศาลรัฐธรรมนูญ ตราบนั้นก็อย่าหวังเรียกร้องการเชื่อฟังจากประชาชน

รสนา โตสิตระกูล

สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ

2 ธันวาคม 2556"



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รสนา อัดรัฐบาลเหตุผลฟังไม่ขึ้น หลังอ้างไม่เกี่ยวข้องไม่รับอำนาจศาล อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2556 เวลา 10:06:35 10,650 อ่าน
TOP