Thailand Web Stat

นักวิชาการแนะทางออกประเทศไทย ยิ่งลักษณ์ ไม่ควรรักษาการ





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

            นักวิชาการแนะทางออกประเทศไทย ยิ่งลักษณ์ ไม่ควรรักษาการ ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขัดตาทัพขยายเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อวางกรอบกติกาให้ทุกฝ่ายยอมรับก่อนจัดเลือกตั้งใหม่

            การประกาศยุบสภาฯ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าวันจันทร์ 9 ธันวาคม 2556 ไม่อาจทำให้การชุมนุมของมวลมหาประชาชนยุติลง เนื่องจากเป้าหมายของประชาชนคือการปฏิรูปการเมือง สร้างการเมืองที่ปลอดคอร์รัปชั่นและอำนาจที่ฉ้อฉล นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุมจากบรรดานักวิชาการ

            โดย นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ให้สัมภาษณ์ว่า แม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาฯ ไปแล้ว แต่ก็ยังคงรักษาการอยู่ ทั้งนายกฯ และ ครม. ดังนั้น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็จะยังคงไม่ยอม และถ้ามีอะไรที่ทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ ตามแนวคิดการตั้งสภาประชาชน กลุ่ม นปช. ก็จะไม่ยอมอยู่ดี สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้จะลากยาวต่อไปเหมือนเดิม

            นายเจษฎ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องหาทางออกร่วมกัน รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ควรที่จะรักษาการต่อ ต้องมีคนอื่นซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายเข้ามารักษาการแทน โดยภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลรักษาการชุดใหม่แทนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรีบดำเนินการ คือ แก้ไขกฎหมายขยายระยะเวลาการเลือกตั้งใหม่ออกไป จากกำหนดเดิมภายใน 45-60 วัน เพื่อวางกรอบกติกาให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

            ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า คนที่เสนอมาตรา 7 เขาไม่ได้บอกให้ในหลวงพระราชทานนายกฯ เขาบอกให้ใช้มาตรา 7 ถ้ามีการยุบสภา ฯ และ ครม. ลาออก เมื่อถึงตอนนั้นประธานวุฒิสภาก็ต้องทำหน้าที่คล้าย ๆ ประธานรัฐสภา ทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อนายกฯ คนใหม่ไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อทรงแต่งตั้ง เหมือนกับกรณีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ชัดว่าประธานสภาฯ เป็นคนเสนอชื่อเพื่อให้มีคนรับสนองพระบรมราชโองการ

            เมื่อถามว่า มองสภาประชาชนของคุณสุเทพว่าทำได้หรือไม่ หรือเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ นายสมคิดก็กล่าวว่า "สภาประชาชนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ว่าจะตั้งได้หรือไม่ แต่ต้องดูเรื่ององค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่เขา จะทำอะไร และถ้าสภาผู้แทนราษฎรยังอยู่ สภาประชาชนก็ไม่มีอำนาจนิติบัญญัติแบบที่สภาฯ ทำหรือถ้า ครม.รักษาการ สภาประชาชนก็จะมีอำนาจแบบสภานิติบัญญัติไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ทำแบบนั้น นี่ผมพูดบนครรลองปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ"

            ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองสิทธิการเมือง กล่าวว่า ถึงแม้ว่านายกฯ และรัฐบาลจะประกาศยุบสภาฯ แล้วก็ตาม แต่จุดประสงค์ของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ต้องการปฏิรูปประเทศโดยการตั้งสภาประชาชน และต้องการขับไล่รัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม โดยใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 69 ดังนั้น ตนมองว่าการยุบสภาฯ ครั้งนี้อาจจะไม่ใช่ทางออกของปัญหา รัฐบาลควรเชิญแกนนำการชุมนุมมาพูดคุย ตกลงกันว่ารูปแบบการปฏิรูปประเทศเป็นอย่างไร

            ทางด้าน นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการสาธารณะ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยุบสภาฯ ตามกฎหมาย กกต. ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ไม่ใช่เลื่อนไปหาสภาประชาชนและอื่น ๆ ร้อยแปดที่มันไม่มีในกฎหมาย เพราะการเลือกตั้งที่ได้มานั่นเรียกว่าสภาประชาชน เมื่อถามว่า มองบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับมวลชนครั้งนี้อย่างไร นายนิธิกล่าวว่า เป็นการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง คุณเป็นพรรคฝ่ายค้านแล้วออกมาค้านอยู่กลางถนนแบบนี้ แล้วเรียกร้องให้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ 

            ขณะที่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ถ้ายึดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานนายกฯ ได้ อยากให้คุณสุเทพ เสนอหัวข้อสภาประชาชนเข้าไปสู่ระบอบการเลือกตั้ง แล้วก็ให้ประชาชนเลือกเข้ามา หลังจากนั้นก็ตั้งสภาประชาชน ซึ่งถ้าเรายังเชื่อในระบอบประชาธิปไตย  



 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการแนะทางออกประเทศไทย ยิ่งลักษณ์ ไม่ควรรักษาการ โพสต์เมื่อ 10 ธันวาคม 2556 เวลา 09:02:06 39,647 อ่าน
TOP
x close