x close

นักวิชาการ รุมค้าน สภาประชาชน-นายกฯ ม.7 ชี้ ขัดหลักประชาธิปไตย




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด

          นักวิชาการ รุมค้าน สภาประชาชน-นายกฯ ม.7 ชี้ ขัดหลักประชาธิปไตย อัด ประชาธิปัตย์ ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์
 
          วันนี้ (10 ธันวาคม 2556 กลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ซึ่งก่อตั้งโดยเครือข่ายนักวิชาการ 150 คน นำโดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเกษียร เตชะพีระ, นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ฯลฯ ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีจุดร่วมในเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารแทรกแซงการเมือง ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นด้วย สามารถลงชื่อได้ที่ เฟซบุ๊ก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)
 
          ส่วนแถลงการณ์ สปปช. ฉบับที่ 1 จะโต้แย้งในประเด็น กปปส., ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และ นักวิชาการจำนวนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นขัดต่อหลักประชาธิปไตย ดังนี้
 
          1. สภาประชาชน ทาง สปป. เห็นว่า ไม่เข้ากับกระบวนการหลักประชาธิปไตย และถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร ส่วนการอ้างอิงมาตรา 3 ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ยกเว้นจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน ส่วนประเด็นสำคัญที่สุดคือ สภาประชาชนไม่มีความชัดเจนถึงความเป็นตัวแทนประชาชน ไม่มีความหลากหลายด้านความคิด โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ กปปส.
 
          2. นายกรัฐมนตรีคนกลางหลังการยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ถือว่าไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และถือว่าละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังยุบสภา จนกว่าจะได้รัฐมนตรีชุดใหม่ นอกจากนี้ ยังได้ขัดขวางกระบวนการการเลือกตั้ง ทำลายหลักประชาธิปไตย อาจจะนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
 
          3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สปป. ยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพ แต่รัฐธรรมนูญก็สามารถแก้ไขได้ตามเจตจำนงของประชาชน และยึดหลักประชาธิปไตย ดังนั้น สปป. จึงเสนอทางออกของสังคมว่า ควรออกแบบการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550
 

          ขณะเดียวกัน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็ได้กล่าวเปิดเสวนาอีกเวทีหนึ่ง คือ ประชาธิปไตย ทางออกของประเทศไทยว่า ประเทศไทยยังมีทางออกอีกมากมาย หากทุกฝ่ายหันหน้าเข้าคุยกัน โดยสิ่งที่ตนอยากจะฝากคือ ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, เคารพสิทธิเสรีภาพ และรับผิดชอบต่อสังคม
 
          ต่อมา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ทำไมทั้งสองฝ่ายไม่หันหน้าคุยกัน ทั้ง ๆ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีพิมพ์เขียว พรรคเพื่อไทยก็มีแนวทางปฏิรูป ทำไมไม่นำมาหาข้อสรุปเป็นแนวทางการบริหารประเทศเสียเลย ตอนนี้สิ่งที่ตนกังวลคือ หากคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนการเลือกตั้ง อาจจะเกิดสงครามการเมืองได้
 
          ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เปิดเผยว่า รัฐบาลประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับมีแนวคิดที่จะบอยคอตการเลือกตั้ง หากไม่มีพรรคที่รู้สำนึกแบบนี้ ส.ส. ก็ควรสำนึกลาออกมา ส่วนการที่จะให้นายกฯ ลาออกให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ไม่ให้มีเลือกตั้ง แต่มีสภาประชาชนแทน ก็สะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ตอนนี้นายสุเทพ ได้เปลี่ยนเป้าหมายมาทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ป.ป.ช. แทน ซึ่งถ้าหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจริง ส.ว. เลือกตั้ง 50 คน จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และ ส.ส.รัฐบาลอาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีด้วย ถือว่าเป็นการพลิกแพลงทำลายระบบชัดเจน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ก็เหมือนขิง ยิ่งแก่ยิ่งดี แต่ถ้าฉีกบ่อย ๆ มันก็จะโทรม และถ้ารัฐประหารบ่อย ๆ คนรุ่นใหม่ที่อยากเสนอตัวก็คงไม่กล้าเข้ามา
 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการ รุมค้าน สภาประชาชน-นายกฯ ม.7 ชี้ ขัดหลักประชาธิปไตย อัปเดตล่าสุด 10 ธันวาคม 2556 เวลา 17:35:58 24,546 อ่าน
TOP