x close

7 องค์กรเอกชน แนะปฏิรูปประเทศทันที ลดดีกรีความขัดแย้ง

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักข่าวอิศรา

          7 องค์กรเอกชน ออกแถลงการณ์แนะปฏิรูปทันที เพราะหากมีเลือกตั้งความขัดแย้งก็ไม่ลด ชี้ จะช้าจะเร็วก็ต้องมีการปฏิรูปอยู่แล้ว ดังนั้นควรทำให้เร็วที่สุด

          วันนี้ (23 ธันวาคม 2556) มีการประชุมเวทีร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 จัดโดย 7 องค์กรเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หลังจากที่ทางกลุ่มได้หารือกับ กปปส. และ นปช. เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ

          โดย นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้เราเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันขึ้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็ตาม และก็มีแนวโน้มความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นความขัดแย้งบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ ทางเอกชนมองว่า เห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ว่าก่อนการเลือกตั้งควรจะมีการจัดการอะไรกันใหม่เสียก่อน

          ต่อมา นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางองค์กรเน้นในเรื่องการปฏิรูปมากกว่า โดยในส่วนพรรคการเมืองก็ควรจะทำสัตยาบรรณร่วมกันที่จะปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ โดยมองข้ามการเลือกตั้งไปแล้วว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้หากยังยืดเยื้อต่อไปอาจจะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างชาติ เช่น การย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า เป็นการแสดงออกว่าพยายามคลี่คลายปัญหาการเมืองของทุกฝ่าย เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

          ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย ความขัดแย้งก็ไม่ลด ฉะนั้นการปฏิรูปจึงเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ต้องทำในทันที เพราะกว่าจะตกผลึกก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน

          ขณะที่นายธวัชชัย ยกกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลรักษาการสามารถออกกฎหมายตั้งองค์การปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งได้ทันที แต่การเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถ้าเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หน้าที่ของรัฐบาลก็คือดูแลการปฏิรูป สุดท้ายก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งอยู่ดี โดยที่กระบวนการต่าง ๆ ไม่ควรเกิน 1 ปี และสิ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน


สำหรับแถลงการณ์ 7 องค์กรภาคเอกชน เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทย มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้


          1. ตามที่ได้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งนี้จะลุกลามไปอย่างไม่สิ้นสุด จนบัดนี้ได้สร้างความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างร้าวลึก 7 องค์กรภาคเอกชน เห็นว่า มีความจำเป็นต้องแสวงหาทางออกอย่างเร่งด่วน จึงได้ร่วมกันจัดเวทีกลางเพื่อรับฟังความเห็นและแนวทางแก้ไขจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นคู่ขัดแย้ง กลุ่มประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทูตานุทูต และภาคธุรกิจต่างประเทศมาโดยตลอด ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืนของประเทศเป็นสำคัญ

          2. 7 องค์กรภาคเอกชน ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่างครอบคลุมแล้ว ต่างมีความเห็นว่า ไม่อยากให้ประเทศเข้าสู่สภาวะสิ้นหวัง และมองเห็นสถานการณ์เป็นโอกาสและเป็นหน้าต่างแห่งทางเลือก ซึ่งบัดนี้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งว่า สถานการณ์ได้มีการพัฒนาไปในทางที่ไม่ใช้ความรุนแรงมาโดยลำดับ จึงใคร่ขอบคุณทุกฝ่ายที่ใช้ความอดกลั้นและขันติธรรมมาโดยตลอด

          3. อย่างไรก็ตาม 7 องค์กรภาคเอกชนเห็นว่า แม้การพัฒนาได้เป็นไปในทางที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางออกให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ การยุติความขัดแย้งจึงจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงเครือข่ายปฏิรูปที่มีความหลากหลาย และได้เชิญองค์กรและบุคคลหลายฝ่ายมาร่วมสะท้อนความเห็น จนได้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นต้องเดินหน้าสู่การปฏิรูปทันที โดยมีกระบวนการปฏิรูปดังนี้

                    3.1. จัดตั้งองค์กร ที่ทำหน้าที่ปฏิรูปในทันทีก่อนการเลือกตั้ง โดยความเห็นชอบของพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีการรับรองตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ทุกฝ่าย เช่น อาจออกเป็นพระราชกำหนด

                    3.2. องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง

                    3.3. วาระการทำงานขององค์กร เป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำการปฏิรูปโดยเฉพาะ

          4. กรอบประเด็นสำคัญของการปฏิรูป มีดังต่อไปนี้

                    4.1. กติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่นระบบการเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ

                    4.2. การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระ และสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น เรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ

                    4.3. การขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

                    4.4. โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรและเข้าถึงทรัพยากรในสังคม และลดความเหลื่อมล้ำโดยมีการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพของประชาชน ให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

                    4.5. โครงการที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก

                    4.6. กระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

          7 องค์กรภาคเอกชน มีความเห็นว่าการปฏิรูปมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และต้องทำทันที ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด จึงใคร่ขอเชิญชวน ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ 7 องค์กรภาคเอกชนใคร่ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้ความสุขุมรอบคอบและวิจารณญาณที่จะช่วยแก้ไขปัญหาชาติ โดยขอเรียกร้องดังนี้

                    1. ให้นักการเมืองและคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ และหันมาเจรจาหาทางออกจากวิกฤตการทางการเมืองนี้ร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                    2. ให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป

                    3. รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิรูปตามข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อการปฏิรูป และในเวลาเดียวกันให้บริหารประเทศและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดและชะงักงันต่อการพัฒนาประเทศ และควรทำภารกิจข้างต้นให้เสร็จสิ้นอย่างเร็วที่สุดแต่ไม่ควรเกิน 1 ปี


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



 





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 องค์กรเอกชน แนะปฏิรูปประเทศทันที ลดดีกรีความขัดแย้ง อัปเดตล่าสุด 23 ธันวาคม 2556 เวลา 18:50:15 12,522 อ่าน
TOP