x close

ตำรวจกัมพูชากราดยิงใส่ม็อบแรงงานประท้วงขึ้นค่าแรง ดับ 3





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister

            ตำรวจกัมพูชากราดยิงใส่ม็อบแรงงาน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบ ขณะที่ ฮุน เซน กล่าวโทษผู้นำฝ่ายค้านเป็นฝ่ายปลุกระดมม็อบ ชี้รัฐจำเป็นต้องใช้ความรุงแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม

            วันที่ 3 มกราคม 2557 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น มีรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระบุว่า ตำรวจกัมพูชาได้เปิดฉากยิงใส่ม็อบแรงงานที่มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3 ราย ในเหตุปะทะซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณโรงงาน เวงสเร็ง โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแหล่งสำคัญของกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงพนมเปญ

            ด้านพยานในเหตุการณ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อาวุธปืนไรเฟิลกราดยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่มีอาวุธเป็นเพียงท่อนไม้ ก้อนหิน และระเบิดเพลิง โดยนายชวน นรินทร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของกัมพูชา เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีก 2 รายจากเหตุปะทะครั้งนี้ ในขณะที่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคน

            ด้านนายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านได้ออกมาประณามต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะไม่ใช่แค่ความพยายามจะยับยั้งการประท้วงของคนงาน แต่ยังเป็นการพยายามขัดขวางการเคลื่อนไหวด้านแรงงานและการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม

            ขณะที่ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้กล่าวโทษว่าเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น เกิดขี้นจากการปลุกระดมโดยผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมกันนั้น นายฮุน เซน ยังได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่รัฐก็จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปราม สลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงนี้

            ทั้งนี้ ม็อบแรงงานได้ออกมารวมตัวกันในเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จาก 80 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,600 บาท) ต่อเดือน เป็น 160 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,000 บาท) ต่อเดือน และได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐที่จะปรับค่าแรงให้เป็น 95-100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,100-3,300 บาท) ต่อเดือน ในขณะที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาใช้การเจรจาในการแก้ปัญหาข้อพิพาท
















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตำรวจกัมพูชากราดยิงใส่ม็อบแรงงานประท้วงขึ้นค่าแรง ดับ 3 อัปเดตล่าสุด 4 มกราคม 2557 เวลา 09:36:03 13,371 อ่าน
TOP