x close

6 ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉลิม อยู่บำรุง นั่ง ผอ.ศรส.

เฉลิม อยู่บำรุง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 

          เฉลิม อยู่บำรุง เผย นายกฯ แต่งตั้งให้เป็น ผอ.ศรส. แล้ว มอบ ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน อุบสถานที่ตั้ง ศรส. หวั่นม็อบบุก พร้อมออก 6 ข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในราชกิจจานุเบกษา

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ผอ.ศรส.) ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งให้ตนเป็น ผอ.ศรส. เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว โดยในเวลา 16.00 น.วันนี้ จะมีการประกาศข้อกำหนดต่าง ๆ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงในพระราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้สมบูรณ์

          ในส่วนของการประชุมวันนี้นั้น ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า มีการหารือเรื่องแนวทางการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องยึดกรอบความถูกต้องของกฎหมาย ไม่ใช้กำลังโดยเด็ดขาด โดยให้ยึดตามหลักสากล พร้อมกับมอบอำนาจให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ศรส.เป็นผู้ดูแลทั้งหมด อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ในที่ประชุมวันนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงขั้นการใช้กฎอัยการศึก

          ผู้สื่อข่าวได้ถาม ร.ต.อ.เฉลิม ด้วยว่า การที่มีประชาชนออกมาชุมนุมกันนั้นถือว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ตอบว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้ ขอให้ประชุมกันก่อน และไม่ขอบอกว่า ศรส. ใช้สถานที่ใดเป็นที่ทำงาน เพราะกลัวผู้ชุมนุมจะมาปิดล้อม โดยย้ำว่าขณะนี้ผู้ชุมนุมกำลังรุกรานรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลไปรุกรานผู้ชุมนุม

          ทั้งนี้ ผอ.ศรส. ยืนยันด้วยว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่ทำให้คนดีต้องเดือดร้อน ยกเว้นคนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กำลังทำอยู่นั้น ถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะไม่สร้างความสงบและสันติ หากยังไม่เกรงกลัวต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่เป็นไร เพราะจะถือว่ายิ่งมีคดีติดตัวมากขึ้น ส่วนเรื่องที่ว่าเหล่าทัพมีความเข้าใจในสถานการณ์ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ขอให้ไปถามนายกรัฐมนตรี

          ขณะที่วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อกำหนดของการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น มีทั้งหมด 6 ข้อ คือ

          1. ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

          2. ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

          3. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกําหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

          4. ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

          5. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กําหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกําหนด

          6. ในการดําเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกําหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ratchakitcha.soc.go.th



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉลิม อยู่บำรุง นั่ง ผอ.ศรส. อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2557 เวลา 13:07:26 32,943 อ่าน
TOP