
สุทิน ธราทิน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอมขอขอบคุณภาพประกอบจาก
เฟซบุ๊ก กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ สุทิน ธราทิน ประวัติ แกนนำ กปท. ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะนำมวลชนไปคัดค้านการเลือกตั้งที่วัดศรีเอี่ยม เขตบางนา เปิดประวัติการทำงานเพื่อชุมชน ก่อนเข้าสู่ถนนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมอีกครั้งสืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อ นายสุทิน ธราทิน แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงมวลชนที่ไปคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่หน่วยเลือกตั้งเขตบางนา บริเวณวัดศรีเอี่ยม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2557
สำหรับ นายสุทิน ธราทิน นั้น ปัจจุบันอายุ 52 ปี เกิดและเติบโตที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครอบครัวเกษตรกร แต่ก็ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จากนั้นก็มีโอกาสได้เข้าทำงานที่การรถไฟฯ ระหว่างนั้น นายสุทิน ก็ส่งเสียตัวเองเข้าเรียนปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย
ทั้งนี้ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายสุทิน มีโอกาสได้ลงพื้นที่และทำงานร่วมกับคนยากจนในเมืองอยู่พักหนึ่ง ทำให้เขาเข้าใจความเป็นอยู่และปัญหาของคนยากจนในเมืองได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อจบการศึกษาปริญญาตรี นายสุทิน จึงมองหาแนวทางที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมด้วยการเข้าร่วมสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในสมัยนั้น เพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกจ้างที่ถูกนายจ้างการรถไฟฯ เอารัดเอาเปรียบ นำไปสู่การหยุดงานครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2531
นอกจากนี้ สหภาพแรงงานฯ ยังต้องสู้กับภาคการเมืองที่มีแนวคิดจะแปรรูปรถไฟ ซึ่งก็มีพนักงานการรถไฟฯ ส่วนหนึ่งสนับสนุนภาครัฐ ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในการรถไฟฯ กระทั่งในที่สุด การรถไฟฯ และรัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักจึงต้องยอมแพ้ และยอมปรับปรุงสภาพการจ้างและค่าตอบแทนของลูกจ้าง พร้อมกับสนับสนุนให้มีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน
ต่อมา นายสุทิน ได้เข้าทำงานที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ โดยประจำที่สาขาสิงห์บุรี การกลับสู่ท้องนาอีกครั้ง ทำให้เขาได้เห็นสภาพของชาวนาในชนบทที่เป็นหนี้จำนวนมากทุกครัวเรือน และพยายามหาทางช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้ชาวนา แต่เขาก็ไม่สามารถทำได้ดังใจนัก เพราะหัวหน้ายืนยันว่าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. คือติดตามเงินกู้กลับคืนมาให้ได้ ด้วยความเห็นที่ไม่ลงรอยกับหัวหน้า ทำให้ สุทิน ถูกย้ายถึง 4 ครั้งภายในปีเดียว แต่ระหว่างนั้น เขาก็ยังพยายามหาโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโดยประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น เกษตร ปศุสัตว์ ประมง ให้ความรู้ จัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรเรื่อยมา ซึ่งหลาย ๆ เรื่องที่ สุทิน ทำนั้น ทำให้เขาดูเหมือนแกะดำของ ธ.ก.ส. เพราะทำงานในลักษณะที่แปลกแยกกับการทำงานในแบบ ธ.ก.ส.
จากนั้น ในปี 2540 นายสุทิน ได้สมัครเข้าเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเมื่อเรียนจบ เข้าตัดสินใจลาออกจาก ธ.ก.ส. และสมัครเข้าทำงานกับธนาคารออมสิน ที่เพิ่งจัดตั้งกองทุนเพื่อสังคม (SIF) เขาจึงได้มีโอกาสทำงานเพื่อสังคมอย่างที่ตั้งใจอีกครั้ง เพราะปรัชญาของ SIF คือ สอนให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ และมีส่วนร่วมในการออกแบบกองทุนหมู่บ้าน งานของ สุทิน ที่ทำเพื่อชุมชนได้ต่อยอดไปเรื่อย ๆ และได้มีโอกาสเข้าร่วมคณะทำงานของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีนโยบายปราบปรามยาเสพติด อีกทั้งยังทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน
อีกหนึ่งภารกิจที่เขาภาคภูมิใจก็คือ การมีส่วนร่วมในการยกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งหลายปีก่อนหน้านี้ ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน จะมีผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องขอให้มีการตั้งประกันสังคมขึ้น นายสุทินจึงได้เข้ามาศึกษาเรื่องนี้ ก่อนจะร่วมกับผู้ที่มีความเห็นตรงกันยกร่างนำเสนอต่อรัฐบาล จนกระทั่งเกิดการตราเป็นพระราชบัญญัติและใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ การทำงานร่วมกับชุมชนมาค่อนชีวิต ทำให้ สุทิน เห็นปัญหามากมายซึ่งส่วนหนึ่งเขามองว่าปัญหาเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับตัวเขาเองมีความสนิทชิดเชื้อกับ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ทำให้ สุทิน ตัดสินใจออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลายปีหลังมานี้ โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่นายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าพรรค
นอกจากนั้นแล้ว ในการเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เมื่อปี 2555 นายสุทิน ก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วย กระทั่งเมื่อกลางปี 2556 นายสุทิน ก็ได้ร่วมแถลงข่าวก่อตั้งกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และจัดชุมนุมใหญ่ที่สวนลุมพินี โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยให้กับ กปท. ก่อนจะย้ายพื้นที่การชุมนุมมายังบริเวณถนนราชดำเนิน หลังจากเข้าร่วมการชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในเวลาต่อมา
ด้วยความที่เป็นคนพูดจาดี สุทิน จึงได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษกของ กปท. และในวันที่ 26 มกราคม 2557 นายสุทิน ธราทิน เขาก็ได้นำมวลชนเดินทางไปคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตบางนา บริเวณวัดศรีเอี่ยม แต่ระหว่างที่ยืนพูดอยู่บนรถกระจายเสียงนั้น ก็ถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ เวที กปปส. ได้จัดพิธีไว้อาลัยให้นายสุทิน เมื่อคืนวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศมอบเงิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาให้แก่ลูกวัย 5 ขวบของนายสุทิน ขณะที่ทางครอบครัวได้จัดพิธีสวดอภิธรรมที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งก็มีผู้ชุมนุมจำนวนมากได้เดินทางไปร่วมไว้อาลัยให้กับนายสุทินเป็นครั้งสุดท้าย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ