x close

ประวัติ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับการต่อสู้ทางการเมือง


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์, ข่าวสด, เฟซบุ๊ก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
 
            ประวัติ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ คนสำคัญ กับการต่อสู้ครั้งใหม่กับกลุ่ม กปท. ร่วมชุมนุมโค่นระบอบทักษิณกับกลุ่ม กปปส. 

            เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปท. ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ไฮไลท์หนึ่งที่สำคัญของวัน นอกจากจะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้ อย่างไรก็ตาม ขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนอยู่นั้น ก็มีชายนิรนามได้บุกช่วยนายสมเกียรติออกมาจากรถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้สำเร็จ ซึ่งปฏิบัติการช่วยแกนนำคนสำคัญนี้ยังมาซึ่งความงุนงงสงสัย และหลายคนที่ไม่ใช่คอการเมืองอาจสงสัยใคร่รู้ว่า เขาผู้นี้คือใคร

            สำหรับประวัติของ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2493 ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ, ระดับปริญญาโทศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนการทำงานของนายสมเกียรติ เคยเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์มติชน, นักวิชาการ, ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับ แกนนำพันธมิตรฯ

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ - สนธิ ลิ้มทองกุล
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ - สนธิ ลิ้มทองกุล

            อย่างไรก็ตาม สถานะที่ทำให้นายสมเกียรติมีชื่อเสียงมากที่สุด คือ การเข้าร่วมเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น มีวัตถุประสงค์ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ต่อมารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับ การุณ โหสกุล

 สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับ การุณ โหสกุล
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ - การุณ โหสกุล

            หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 นายสมเกียรติ ได้ลาออกจากแกนนำพันธมิตรฯ ลงสมัครเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แบบสัดส่วนในปี 2550 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งการรับตำแหน่ง ส.ส. ของนายสมเกียรติ ก็มีเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวดังในสื่อหลายสำนัก นั่นคือ การถูกนายการุณ โหสกุล ส.ส.พรรคพลังประชาชน เขตดอนเมือง ขณะนั้น กระโดดถีบที่อาคารรัฐสภา ก่อนที่จะชกซ้ำ หลังจากที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในคดีนี้ศาลได้ตัดสินจำคุกนายการุณเป็นเวลา 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า พร้อมกับรอลงอาญาไว้ 2 ปี


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับปัญหาระหว่างพรรคประชาธิปัตย์

            อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชุมนุมใหญ่ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราสาทพระวิหาร ทำให้แนวคิดของนายสมเกียรติ อยู่ในสถานะที่ไม่ตรงกับพรรคประชาธิปัตย์ จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เสนอให้นายสมเกียรติลาออกจาก ส.ส. และจะไม่ส่งนายสมเกียรติลงเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งถัดไป ด้านนายสมเกียรติ ก็สวนกลับไปว่า จะลาออกก็ต่อเมื่อนายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย

            แต่สุดท้าย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ กลับคืนสู่กลุ่มพันธมิตรฯ อีกครั้ง เนื่องจาก เซ็งกับระบบการเมืองน้ำเน่าในปัจจุบัน และอยากกลับเวทีการเมืองภาคประชาชนเต็มตัวมากกว่า ซึ่งการเลือกตั้งปี 2554 กลุ่มพันธมิตรฯ ของนายสมเกียรติ จึงได้ชูแนวทางการ Vote No หรือการลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อแสดงพลังนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองให้หลุดพ้นการมีรัฐบาลที่ไม่เป็นพรรคเพื่อไทย ก็เป็นพรรคประชาธิปัตย์

            กระทั่งเข้าสู่ปี 2556 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็ยุติบทบาทในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ เนื่องจากพันธมิตรฯ ได้ประกาศยุติบทบาทลงนั่นเอง แต่ถึงอย่างไร บทบาททางการเมืองภาคประชาชนของนายสมเกียรติก็ยังไม่ยุติ เพราะยังคงเดินหน้าต่อต้านรัฐบาลในเครือของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ โดยดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด และมีกลุ่มกองทัพธรรม ซึ่งมี พล.ต.จำลอง และ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นผู้ประสานงาน เป็นพันธมิตรร่วมรบจนถึงปัจจุบันนี้


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์      
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

            ด้วยความที่บุคคลทั้ง 2 มีนามสกุลที่เหมือนกัน ทำให้ชาวไซเบอร์หลายคนสงสัยเช่นกันว่า ทั้งสองคนนี้มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดหรือไม่ สืบเนื่องมาจากมีทัศนคติทางการเมืองที่ค่อนข้างคล้ายกัน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ไม่ปรากฏความสัมพันธ์ทางสายเลือดของบุคคลทั้งสองแต่อย่างใด


สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ป่วย

            ข่าวที่ว่านายสมเกียรติมีอาการป่วยนั้น เริ่มมาจากการสืบพยานโจทก์คดีที่นายสมเกียรติ ฟ้องนายการุณ ข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อปี 2551 โดยในวันนั้นนายสมเกียรติไม่สามารถมาศาลได้ เพราะมีอาการป่วยเป็นอัมพฤกษ์ จึงขอให้ศาลเลื่อนคดีออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสมเกียรติเข้าประชุมคณะกรรมาธิการฯ และถูกผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับอาการป่วย นายสมเกียรติก็แปลกใจ พร้อมกับระบุว่า เป็นแค่โรคเส้นเลือดในสมองตีบเท่านั้น ยังสามารถเดินและทำงานได้ตามปกติ


            ทั้งหมดนี้ก็คือประวัติของอดีตแกนนำพันธมิตรฯ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่แม้ว่าการกลับมาของเขาในครั้งนี้กับกลุ่ม กปท. และ กปปส. จะไม่ฉูดฉาดมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขายังคงมีบทบาทกับม็อบการเมืองอีกคนหนึ่ง และถูกหมายจับฐานฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปตามระเบียบ

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กับการต่อสู้ทางการเมือง อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 14:18:53 15,280 อ่าน
TOP