บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย อายุกว่า 100 ปี วันนี้เราจะพาไปย้อนดูประวัติความเป็นมาของ บ้านพิษณุโลก พร้อมตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับอาถรรพ์และสิ่งลี้ลับที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ รวมถึงนายกฯ ไทย ที่ใช้เป็นที่พักอาศัยมีใครบ้าง บ้านพิษณุโลก เลขที่ 428 ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ หรือย่านนางเลิ้ง ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย รวมถึงไว้เป็นเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาล ย้อนรอย บ้านพิษณุโลก เดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์ สร้างตั้งแต่ปี 2465 หรือเมื่อ 101 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้น โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วให้ มหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายของ พระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ) ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกให้เป็นแม่นม ถวายแด่ทูลกระหม่อมโต เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ บ้านพิษณุโลก ออกแบบและสร้างขึ้นโดย มาริโอ ตามานโญ ช่างชาวอิตาลี ซึ่งเป็นช่างคนเดียวกับที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และทำเนียบรับบาล ลักษณะของบ้านเป็นแบบ Italian Baroque มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นตึกประธานของบ้าน มี 3 ชั้น ไม่นับรวมห้องใต้ดิน ดังนี้ ชั้น 1 จะเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับนั่งเล่น และมีห้องรับแขก 2 ห้อง ชั้น 2 เป็นห้องนอน 2 ด้าน ซึ่งเป็นห้องนอนของพระยาอนิรุทธเทวาด้วย ชั้น 3 เป็นห้องพระใหญ่ใต้โดมหน้าตึก ด้านหลังห้องพระจะเป็นห้องนอน โดยทุกห้องจะออกแบบให้มีเพดานสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับหน้าตึกบ้านพิษณุโลก มีประธานที่เป็นรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พระราชทานของตระกูลประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ และมีตึกบริวารต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และโรงรถ เรียงรายกันไป อีกทั้งมีการจัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ โดยมีสวนป่าเขาดิน ภูเขาจำลองขนาดย่อม มีน้ำตกเล็ก ๆ ไหลริน บนยอดดอยมีศาลเทพารักษ์ ศาลท้าวหิริญฮู หรือ ท้าวหิรัญพนาสูร ไว้เคารพบูชา ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชสมบัติ เพราะแบกรับค่าซ่อมบำรุงไม่ไหว แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พระยาอนิรุทธเทวาพาครอบครัวย้ายไปอยู่ จ.อยุธยา บ้านหลังดังกล่าวจึงถูกทิ้งร้าง กระทั่งเมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ซื้อไว้ครึ่งหนึ่ง 25 ไร่ 500,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นได้ตกลงปลงใจเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงใช้บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นที่รับรอง นายพล โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่อมาในปี 2485 ทางการใช้กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น และเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ เป็น บ้านไทย-พันธมิตร หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านบรรทมสินธุ์ ได้ถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บ้านพิษณุโลก ตามชื่อถนนที่ตัดผ่าน หลังจากนั้นเป็นต้นมาบ้านพิษณุโลกหลังนี้ได้ถูกปรับให้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมาหลายยุคหลายสมัย ได้แก่ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายชวน หลีกภัย ใช้พักอาศัยในช่วงรัฐบาลชวน 2 เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้าพัก สําหรับเรื่องเล่าขานตำนานอาถรรพ์ในบ้านพิษณุโลกนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะมีคนพบเห็นหญิงสาวแต่งชุดโบราณมาเดินให้เห็นภายในบริเวณบ้านอยู่บ่อยครั้ง หรือการที่คนงานภายในบ้านพบเห็นท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านปรากฏกายให้เห็นในยามดึก รวมไปถึงเสียงร้องและเสียงฝีเท้าของม้าที่มักจะได้ยินตอนกลางคืน ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากรูปปั้นม้าทองแดงบริเวณสนามหญ้าภายในบ้าน แม้กระทั่ง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หลังจากได้ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนี้ ก็อยู่ได้เพียง 7 วันเท่านั้น พล.อ. เปรม ก็ย้ายกลับไปพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ ส่วนนายชวน หลีกภัย ก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 โดยอาศัยอยู่ได้นานถึง 6 เดือน เนื่องจากมีการซ่อมใหญ่บ้านพักของนายชวนในซอยหมอเหล็ง ซึ่งมีรายงานว่าก่อนที่จะอยู่อาศัยมีการนำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาทำพิธีปัดรังควาน และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ภายในบ้านก่อนเข้าพักด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าชวนขนลุกในสมัย ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหมาด ๆ เมื่อคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ภริยานำคนงานจากบ้านพักส่วนตัวมาทำความสะอาด ปรากฏว่ามีพนักงานหญิงคนหนึ่ง จู่ ๆ ก็ล้มตัวลงนั่งหลังค่อมคล้ายผู้สูงอายุเช็ดถูพื้นบริเวณชั้นล่างของบ้านและบ่นพึมพำว่า “รกหูรกตาไปหมด อะไร ๆ ก็สกปรก ไม่เห็นจะทำความสะอาดกันเลย” จนพนักงานบริเวณนั้นเริ่มหวาดกลัว ไปตามคุณหญิงพจมานและเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง จากนั้น คุณหญิงพจมาน ได้รีบลงมาดู และใช้มือตีไปที่ไหล่ เพื่อเรียกสติแต่ไม่ได้ผล จนต้องสั่งให้คนงานไปเอาลูกประคำมาคล้องคอ และให้ดื่มน้ำมนต์ ปรากฏว่าพนักงานคนนั้นตวาดเสียงดังว่า “เอาอะไรมาให้ฉันกิน” ก่อนจะเทน้ำมนต์ทิ้ง แล้วพนักงานคนดังกล่าวจึงกลับคืนสติอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยออกมาให้เหตุผลเกี่ยวกับตำนานของบ้านพิษณุโลก รวมถึงการไม่เข้าพักอาศัยในบ้านพิษณุโลกของอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับผีสาง หรือเทวดา ข้อเท็จจริงคือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเสียง และความอึกทึกจากข้างนอกที่เข้ามาภายในบ้าน เมื่ออยู่ในนั้นจะได้ยินเสียงทุกอย่างทั้งหมด หากขวัญอ่อนก็นึกว่าผี แต่ความจริงคือคนพูดกันว่าหากอยู่ที่ชั้นสาม เวลาพูดหรือประชุมกันคนชั้นล่างก็ได้ยิน จึงรู้สึกว่าการออกแบบบ้านนั้นไม่เก็บเสียง ขณะที่คำบอกเล่าจากนักข่าวอาวุโสท่านหนึ่ง กล่าวว่า ที่นายกฯ ไม่ค่อยใช้บ้านพิษณุโลก เป็นบ้านพัก เนื่องจากความพร้อมในการอยู่อาศัยไม่ค่อยเหมาะสมเท่าที่ควร เนื่องจากบ้านพิษณุโลกเป็นบ้านเปล่า ๆ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องเรือนสำหรับอาศัย อีกทั้งมีลักษณะเป็นเรือนรับรองขนาดเล็ก จึงเหมาะสำหรับใช้เพื่อเป็นบ้านรับรองแขกมากกว่าใช้เพื่อการพักอาศัย นอกจากนี้ในยามค่ำคืนบ้านพิษณุโลก มีบรรยากาศที่ค่อนข้างวังเวง อีกทั้งมีสภาพเป็นบ้านไม้ จึงทำให้เวลาเดินแล้วมีเสียงดัง และที่สำคัญบ้านพักนายกรัฐมนตรีควรจะสามารถให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ แต่บ้านพิษณุโลกไม่มี ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการเสนอให้ไปลงที่สนามม้านางเลิ้งในกรณีจำเป็นแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการเข้าใช้บ้านพิษณุโลกว่า มีความตั้งใจอยากจะใช้บ้านพิษณุโลกเพื่อจัดประชุมกรณีพิเศษบางวาระงานที่ไม่สำคัญมาก เพราะจะได้สลับกับการใช้ห้องประชุมในทำเนียบรัฐบาลมาใช้บ้านพิษณุโลกแทน หลังจากที่ไม่ได้ถูกใช้งานมานาน ส่วนแนวคิดจะมาพักผ่อน หรือค้างคืนที่บ้านพักประจำตำแหน่งนั้น คาดว่าจะไม่มาใช้ แต่จะใช้ห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรีโนเวท โดยเฉพาะห้องน้ำให้มีความสะดวกเหมาะแก่การใช้งาน ทำภารกิจส่วนตัว ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 1 เดือน ก็จะได้เข้ามานอนค้างที่ทำเนียบฯ ได้
แสดงความคิดเห็น