เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เคอร์ฟิว คืออะไร เหตุใดถึงต้อง ประกาศเคอร์ฟิว 2557 วันนี้เรามีคำตอบ รวมถึงข้อห้ามและโทษหากผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาความไม่สงบภายในประเทศให้เป็นไปความเรียบร้อย พร้อมออกประกาศและออกคำสั่งในหลายเรื่องให้ประชาชนได้ทราบกันนั้น
เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ในวันเดียวกันนั้น ทาง คสช. ได้ "ประกาศเคอร์ฟิว 2557" ห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 57 คสช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 42 ปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่ เป็นเวลา 00.01-04.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า เคอร์ฟิว คืออะไร และหากเรามีเหตุจำเป็นต้องเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ตามไปหาคำตอบกันเลย...
เคอร์ฟิว คืออะไร
เคอร์ฟิว (ภาษาอังกฤษ Curfew) หมายถึง มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด หรือห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (1) ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น นอกจากนี้ มาตรา 9 (4) ยังห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
ทั้งนี้ เคอร์ฟิว เป็นการประกาศหลังจากที่ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าจำเป็น ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือให้เกิดความสะดวกต่อการปราบปรามกลุ่มเป้าหมาย และเป็นการสะดวกในการแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ประกาศ เคอร์ฟิว ประชาชนต้องทำตัวอย่างไร
เคอร์ฟิว จะมีการกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งช่วงเวลาที่เคอร์ฟิวนั้น เจ้าหน้าที่สามารถตรวจการและดำเนินการทางยุทธวิธี โดยไม่เป็นอันตรายแก่ประชาชน แต่หากพบว่าประชาชนคนไหนขัดขืนโดยไม่มีเหตุผล เหตุจำเป็น หรือหลักฐานแสดงตนชัดเจน ก็จะถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืน ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะดำเนินการได้ เนื่องจากได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการเคอร์ฟิว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประกาศเคอร์ฟิว 2557 ที่ผ่านมา ทาง คสช. ออกประกาศฉบับที่ 8 ระบุยกเว้นเคอร์ฟิวกับบุคคลที่ต้องเดินทางเข้า-ออก ประเทศ, เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเป็นช่วงเวลา เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงพยาบาล, ธุรกิจการบิน, การเดินทางขนส่งสินค้าที่มีอายุจำกัด และผู้ป่วย ส่วนผู้ที่มีกิจธุระจำเป็นอื่น ๆ ให้ขออนุญาตทหารในพื้นที่
การลงโทษหากผู้ฝ่าฝืน เคอร์ฟิว
สำหรับการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ในการประกาศเคอร์ฟิว เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ทางศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แจ้งว่ามีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวกว่า 500 คน โดยได้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี แต่หากทำผิดซ้ำจะดำเนินคดีทันทีไม่รอลงอาญา ในส่วนของการประกาศเคอร์ฟิว 2557 ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวหรือมีการลงโทษแล้วแต่อย่างใด
เคอร์ฟิว ภาคใต้
จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมานั้น ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หารือถึงการออกประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากเป็นการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่วันนี้ ก็มีนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า สถานการณ์ภาคใต้ ยังไม่รุนแรงถึงต้องประกาศเคอร์ฟิว พร้อมทั้งแนะนำให้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ เน้นการตรวจตราตามจุดตรวจต่าง ๆ เพิ่มการลาดตระเวนแทน เพราะการประกาศเคอร์ฟิวภาคใต้อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งวิถีของชาวมุสลิมส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพื่อไปละหมาด และโดยสถิติแล้วผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่มักไม่ก่อเหตุในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะก่อเหตุในช่วงเช้าหรือตอนกลางวัน