

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดยคุณ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร
นักธรณีฯ ชี้ แผ่นดินไหวน่านเกิดจากรอยเลื่อนปัว ที่รับพลังต่อมาจากรอยเลื่อนพะเยา เฝ้าจับตาแรงสั่นสะเทือนแบบโดมิโนอาจทำเกิดแผ่นดินไหวแรงขึ้น ด้านนักวิชาการ เผย 3 ความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ อาจกระทบหนักจากแผ่นดินไหว
เมื่อเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานถึงสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อกจากเหตุแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม จนถึงเช้านี้ เกิดอาฟเตอร์ช็อกรวมแล้ว 934 ครั้ง โดยความถี่ของการเกิดอาฟเตอร์ช็อกเริ่มลดลง แต่ขนาดความแรกของอาฟเตอร์ช็อกกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย เห็นได้จากอาฟเตอร์ช็อกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลา 01.55 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม จุดศูนย์กลางที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย 3.9 แมกนิจูด ความลึก 4 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปรากฏการณ์อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นว่า อย่างที่เคยแถลงข่าวไปก่อนนี้ว่า อาฟเตอร์ช็อกดังกล่าวขึ้นที่บริเวณรอยเลื่อนพะเยา และได้เตือนให้เฝ้าจับตารอยเลื่อนบริเวณใกล้เคียงที่อาจจะเกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาในลักษณะโดมิโนด้วย เนื่องจากรอยเลื่อนเหล่านั้นจะได้รับพลังที่รอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น 2 ครั้ง ที่จังหวัดน่าน โดยครั้งแรกที่บริเวณ อ.นาน้อย 3.6 แมกนิจูด และครั้งที่สองที่ อ.เวียงสา 3.1 แมกนิจูด ซึ่งครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนปัว
ดร.ปัญญา อธิบายต่อว่า การที่เกิดแผ่นดินไหวสองครั้งที่จังหวัดน่าน โดยเป็นผลมาจากรอยเลื่อนปัวนั้น แสดงว่า แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนพะเยาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมได้ส่งพลังต่อไปยังรอยเลื่อนใกล้เคียงอย่างสมบูรณ์แล้ว หรือเรียกว่าปรากฏการณ์โดมิโนได้เกิดขึ้นจริงตามที่นักธรณีวิทยาและนักแผ่นดินไหวกังวลกันเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงว่าโดมิโนครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะเป็นรอยเลื่อนในพื้นที่ใด ต่อจากนี้ต้องเฝ้าจับตาการสะเทือนครั้งต่อไปที่รอยเลื่อนปัว ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าครั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น จึงต้องภาวนาให้การสั่นไหวที่ผ่านไปนั้นเป็นแผ่นดินไหวหลัก ไม่ใช่แผ่นดินไหวนำ เพราะถ้าเป็นแผ่นดินไหวนำ แสดงว่าอนาคตอันใกล้นี้อาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงกว่านี้ในรอยเลื่อนอื่น ๆ ตามมาได้
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนี้นั้น ดร.ปัญญา ระบุว่า ถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเคยบันทึกเอาไว้ได้ อีกทั้งอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นกว่า 900 ครั้งนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ เพราะปกติอาฟเตอร์ช็อกจำนวนมากจะเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ขึ้นไป ดังที่พบในต่างประเทศ แต่กลับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นเรื่องแปลกประหลาดแหวกกฎเกณฑ์ทางวิชาการอย่างมาก ทั้งยังมีแนวโน้มจะเกิดต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
ดร.ปัญญา ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ต่อจากนี้้ต้องภาวนาโดมิโนครั้งต่อไปเกิดขึ้นกับรอยเลื่อนองครักษ์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร และทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลแน่นอน
ขณะที่ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีเอเชีย กล่าวถึงผลกระทบจากที่กรุงเทพมหานครอาจได้รับจากเหตุแผ่นดินไหวว่า ในอนาคตจะได้รับผลกระทบสูง เพราะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ดินอ่อนบริเวณกว้างและมีขนาดใหญ่ หากเกิดแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรีจะมีพลังขยายถึง 3 เท่า ทำให้อาคารสูงในกรุงเทพมหานครรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้
ทั้งนี้ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ระบุด้วยว่า จากการศึกษาโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรง มี 3 แบบ คือ กรณีเกิดแผ่นดินไหว 7 แมกนิจูดที่จังหวัดกาญจนบุรี กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนสกาย 8 แมกนิจูด ในประเทศพม่า และกรณีเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน 8.9 แมกนิจูด ตามแนวรอยต่อของเปลือกโลก ซึ่งกรณีหลังนี้จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครมากที่สุด และยังทำอันตรายมากที่สุดด้วย เพราะจะทำให้เกิดสึนามิตามมาได้
คลิป เรื่องเล่าเช้านี้ อาฟเตอร์ช็อกเชียงรายลดความถี่ ชี้แผ่นดินไหวน่าน เกิดจากรอยเลื่อนใหม่ เครดิตรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดยคุณ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

