
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก agrifair-tsu.com
อาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงได้มีการจัดงาน วันเกษตรแห่งชาติ ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของการเกษตรกรรม และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมอาชีพของเกษตรกร วันนี้ กระปุกดอทคอม ได้นำประวัติความเป็นมาของวันเกษตรแห่งชาติ มาฝากกันค่ะ
ความเป็นมาของวันเกษตรแห่งชาติ
การจัดงานเกษตรแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกในช่วง พ.ศ. 2453 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสนับสนุนและเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชการ โดยภายในงานจะมีการแสดงมหรสพ แตรวง รวมทั้งจัดแสดงสินค้าเกษตรและเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการเพาะปลูก มีการทำโรงนาสาธิตให้ประชาชนดูเป็นตัวอย่าง มีการประกวดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช มีการแนะนำให้รู้จักระบบชลประทาน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนลงทุนจัดงานให้ทั้งหมด แต่ว่าในปีถัดมาไม่มีการแสดงมหรสพ เพราะต้องไว้ทุกข์พระบรมศพรัชกาลที่ 5
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวช่วงแรกนั้น จะใช้ชื่อว่า งานวันเกษตร ไ่ม่มีคำว่าแห่งชาติเหมือนในปัจจุบัน ต่อมาเมื่องานนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น ทำให้ขอบเขตของการจัดงานได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนเกินงบประมาณ เกินกำลังคน และมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ จึงต้องหยุดจัดงานเกษตรไปหลายปี กระทั่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดงานลักษณะนี้ จึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้น ในวันที่ 3-4 มกราคม 2491 ซึ่งจะมีการจัดงานเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานถือหลักการเดิมของการจัดงานนิทรรศการครั้งแรก คือการจัดแสดงต่าง ๆ จะเป็นทางหนึ่งที่ชักนำปลุกใจประชาชน ให้ประกอบการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และค้าขายให้เจริญทันสมัย
ต่อมาการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติได้เปลี่ยนมาจัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในเรื่องของวัน และกิจกรรม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอาคารก่อสร้าง การจัดงานจึงไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่นัก เช่น การจัดตลาดนัด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงเป้าหมายของงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากคือ จะเน้นทางด้านธุรกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติจะมีการพิจารณาคัดเลือกสถานที่การจัดงานทุกปี โดยจะหมุนเวียนไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในปีนี้จะเป็นพื้นที่ในเขตภาคใต้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จ.พัทลุง จะเป็นเจ้าภาพจัดงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2557
กำหนดการจัดงานเกษตรแห่งชาติ 2557
คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2557 ในวันที่ 22-31 สิงหาคม 2557 โดยภายในงานจะเน้นการถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่ความก้าวหน้าทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งนวัตกรรมทางด้านการเกษตรแบบผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นิสิต นักวิชากร ตลอดจนประชาชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้น ก็เพื่อถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่ความก้าวหน้าทางวิชาการและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย หน่วยราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาและสร้างความตระหนักให้เกษตรกร เห็นความสำคัญของการเกษตรแบบยั่งยืน และสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพและธุรกิจด้านการเกษตรให้เกษตรกรในประเทศสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าในเชิงคุณภาพได้ดีกว่า เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 15.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด งานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2557 ด้วย
งานเกษตรแห่งชาติ 2557
วันที่ : 22-31 สิงหาคม 2557
สถานที่ : มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จ.พัทลุง
กิจกรรม : แบ่งออกเป็น 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่
- การจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและโครงการพระราชดำริ นิทรรศการของหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
- การประชุมสัมมนา อาทิ การประชุมวิชาการระดับชาติ นานาชาติทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ประชุมสัมมนาการพัฒนาด้านการเกษตรภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน เป็นต้น
- การประกวดผลิตภัณฑ์อาหาร ผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
- การแสดงกิจกรรมบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี มโนราห์ เป็นต้น
- การจำหน่ายสินค้าการเกษตร อุปโภคบริโภค
- แปลงสาธิตด้านการเกษตรทางด้านพืชและสัตว์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- agrifair-tsu.com