22 ธันวาคม 2566 วันเหมายัน ปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

            22 ธันวาคม 2566 วันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"

วันเหมายัน

            ทุกวันที่ 21-22 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และตกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มากที่สุด โดยดวงอาทิตย์จะอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือ จึงทำให้ประเทศในแถบขั้วโลกเหนือบางส่วนมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ แต่ในทางกลับกันดวงอาทิตย์จะเอียงเข้าหาขั้วโลกใต้ ทำให้ประเทศในแถบขั้วโลกใต้ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ได้รับแสงอาทิตย์มาก ส่งผลให้อากาศร้อนกว่าปกติ

            โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้มีช่วงกลางคืนที่ยาวนานกว่าช่วงกลางวัน ซึ่งคนไทยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ตะวันอ้อมข้าว" สำหรับทางซีกโลกเหนือจะเรียกว่า "วันเหมายัน" (Winter solstice) และคนไทยส่วนใหญ่ก็เรียกวันนี้ว่าวันเหมายันเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยจัดอยู่ในซีกโลกเหนือ ในขณะที่ทางซีกโลกใต้จะเรียกวันดังกล่าวนี้ว่า "วันครีษมายัน" (Summer solstice)

วันเหมายัน

            ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุดและเวลากลางคืนยาวนานที่สุด

            สำหรับวันเหมายันในปี 2566 ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.55 น. รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ วันเหมายัน ยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน

             สำหรับ "ฤดูกาล" เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางวัน

วันเหมายัน

            ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต เป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

           ตะวันอ้อมข้าว มีความหมายต่อคนไทยในเรื่องการเกษตร เนื่องจากมีความเชื่อว่า ช่วงเวลาการเกิดตะวันอ้อมข้าวเป็นช่วงที่พระแม่โพสพกำลังตั้งท้อง หรือช่วงเวลาที่ข้าวกำลังตั้งท้องพอดี ดวงอาทิตย์จึงทำความเคารพพระแม่โพสพด้วยการไม่เดินข้ามศีรษะของพระแม่โพสพ แต่เปลี่ยนเป็นอ้อมไปทางทิศใต้แทน เป็นสัญญาณให้เกษตรกรเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูหนาวและช่วงเวลาเก็บเกี่ยว

           นอกจากนี้ตะวันอ้อมข้าวยังมีผลต่อการเกษตรที่ต้องใช้ธรรมชาติในการเพาะปลูกแทนเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอย่างในปัจจุบัน เมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เกษตรกรควรวางแผนในการเพาะปลูกพืชผัก เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการแสงมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งในช่วงตะวันอ้อมข้าวแดดจะแรงและอากาศจะแห้งกว่าปกติ ทำให้พืชที่ต้องการความชื้นอาจแห้งตายจากการขาดน้ำและเหี่ยวเฉาได้ แต่หากวางแผนการเพาะปลูกได้ดีจะทำให้ปลูกได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรที่แปลงผักอยู่ทางทิศใต้จึงจะได้เปรียบมากกว่า

 
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
22 ธันวาคม 2566 วันเหมายัน ปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2566 เวลา 22:39:00 47,712 อ่าน
TOP
x close