พระยาอุปกิตศิลปสาร ประวัติอาจารย์ใหญ่คนแรกของไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @weeranan
พระยาอุปกิตศิลปสาร ประวัติอาจารย์ใหญ่คนแรกของวงการแพทย์ไทย เจ้าของวาทะอมตะ "ฉันเป็นครู ตายแล้วก็ขอเป็นครูต่อไป"
จากคลิปโฆษณา "อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้
" ที่กำลังเผยแพร่อยู่ขณะนี้ ทำเอาคนที่มีโอกาสชมคลิปโฆษณาต่างประทับใจกับเรื่องราวของ "อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้" เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของคลิปโฆษณาที่หยิบยกวาทะอมตะของ พระยาอุปกิตศิลปสาร อาจารย์ใหญ่คนแรกของวงการแพทย์ไทย ที่ว่า "ฉันเป็นครู ตายแล้วก็ขอเป็นครูต่อไป" ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของผู้เป็นครูอย่างชัดเจนว่า แม้ถึงวันที่หมดลมหายใจ ก็ยังขอเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ลูกศิษย์และในโอกาสนี้ เราก็ขอนำเรื่องราวของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ครูผู้เขียนตำราภาษาไทย และเป็นอาจารย์ใหญ่ที่อุทิศร่างกายให้กับการศึกษาทางการแพทย์คนแรกของประเทศไทย มาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน
อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2422 เป็นบุตรหัวปีของนายหว่าง และนางปลั่ง เริ่มแรกพระยาอุปกิตศิลปสาร ศึกษาความรู้ภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดบางประทุนนอก อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี และที่วัดประยุรวงศาวาส
ต่อมา พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้บวชเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างที่บวชก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้เปรียญ 6 ประโยค และได้ศึกษาวิชาครูควบคู่ไปด้วย และเมื่อสึกออกมาแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสาร ก็ได้เริ่มต้นอาชีพของการเป็นครู ด้วยการเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
นอกจากเป็นครูแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสาร ยังเคยตำแหน่งข้าหลวงตรวจการ พนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำรา หัวหน้าแผนกแบบเรียนกรมวิชาการ และอาจารย์ประจำกรมวิชาการ ท่านได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ตามลำดับ จนในที่สุดเป็นอำมาตย์เอก
และด้วยที่ พระยาอุปกิตศิลปสาร เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ภาษาบาลี และวรรณคดีไทย จึงมีหน้าที่พิเศษเป็นอาจารย์แผนกภาษาไทยและภาษาโบราณตะวันออก ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยชุดครูมัธยม ทั้งเป็นกรรมการชำระปทานุกรมอีกด้วย
ทั้งนี้ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้ฝากผลงานไว้ให้วงวิชาการภาษาไทยมากมาย อาทิ การแต่งชุดตำราไวยากรณ์ไทย 4 เล่ม ประกอบด้วย
- อักขรวิธี
- วจีวิภาค
- วากยสัมพันธ์
- ฉันทลักษณ์
รวมถึงยังมีเรื่องสงครามภารตะคำกลอน, คำประพันธ์บางเรื่อง และกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามานานนับ 10 ปี
นอกจากนี้ พระยาอุปกิตศิลปสาร ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้คำว่า "สวัสดี" สำหรับการทักทาย โดยได้ปรับเสียงของคำว่า สวสฺติ จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะรื่นหูกว่า จึงเป็น สวัสดี จนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศเป็นคำทักทายประจำชาติไทยในเวลาต่อมา
และเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2484 พระยาอุปกิตศิลปสาร ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร ได้บริจาคร่างกาย เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ในแก่นักศึกษาแพทย์ เปรียบได้ว่า พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้ทำหน้าที่ครูจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เหมือนดังวาทะอมตะของท่าน "ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป"
สำหรับการบริจาคร่างกาย เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ในแก่นักศึกษาแพทย์ในครั้งนั้นของ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ไทยอย่างมหาศาลจวบจนปัจจุบัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก